เนื่องจากส้มเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารที่รู้บทบาทและหน้าที่ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและกิจกรรมต่างๆ ครบทั้ง 16 ธาตุ เช่นเดียวกับไม้ผลและพืชอื่นๆ ธาตุอาหารพืชเหล่านี้ประกอบด้วย คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ที่พืชได้จากน้ำ (H2O) และอากาศ (CO2, O2) ส่วนที่เหลืออีก 13 ธาตุ ซึ่งมีอยู่ในดินและอาจมีในอากาศในปริมาณมากน้อยแตกต่างกันในดินและในแต่ละพื้นที่ สามารถแบ่งออกเป็นธาตุหลัก 6 ธาตุ ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช และพืชต้องการในปริมาณที่มาก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปตัสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถันหรือซัลเฟอร์ (S) และธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุอีก 7 ธาตุ ที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย แต่พืชจะขาดธาตุเหล่านี้ไม่ได้เช่นกัน คือ สังกะสีหรือซิงค์ (Zn) แมงกานีส (Mn) เหล็ก (Fe) ทองแดงหรือคอปเปอร์ (Cu) โบรอน (B) โมลิบดีนั่ม (Mo) และคลอรีน (Cl)
ดังกล่าวแล้วว่าธาตุอาหารเหล่านี้ปกติจะมีอยู่ในน้ำ อากาศ และดิน แต่อาจมีในปริมาณที่น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช และในบางพื้นที่อาจมีบางธาตุในปริมาณมากจนเกิดเป็นความเป็นพิษ (Toxic, Phytotoxicity) กับพืชได้เช่นกัน ดังนั้นเกษตรกรและผู้ปลูกจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการธาตุอาหารอย่างยิ่ง เพื่อให้การเพาะปลูกพืชประสบความสำเร็จ โดยต้นพืชมีการเจริญที่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค และให้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน
สำหรับไม้ผลเกือบทุกชนิด ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ชมพู่ ฝรั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชตระกูลส้ม จะมีความอ่อนแอต่อการขาดธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี และเหล็ก ต้นส้มที่ขาดธาตุอาหารต่างๆ จึงมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ต้นแคระแกร็น ใบมีขนาดเล็กลง มีสีเขียวซีดหรือด่างเหลืองในแบบต่างๆ กัน ให้ผลผลิตลดน้อยลง ผลมีขนาดเล็ก เปลือกผลบางผิดปกติ ผลมักหลุดร่วงง่าย มีรสชาติจืดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
1.การขาดธาตุแมกนีเซียม (Magnesium deficiency)
ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium, Mg) เป็นธาตุที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิต เนื่องจากเป็นธาตุองค์ประกอบของสีเขียวหรือคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ของพืช หากต้นส้มขาดธาตุแมกนีเซียมหรือได้รับไม่เพียงพอ จะทำให้สีของใบเหลือง ไม่เขียวเข้ม ใบมีสีเหลืองโดยเส้นกลางใบและพื้นที่ใบบริเวณโคนใบมีสีเขียวเป็นรูปลิ่มหรือตัววี (V) หัวกลับ ต้นส้มที่ขาดธาตุแมกนีเซียม มักแสดงอาการขาดอย่างชัดเจนที่ใบแก่หรือใบที่อยู่ล่างๆของกิ่ง ใบส้มมีอายุสั้นกว่าปกติ จึงเหลืองและมีอายุสั้น หลุดร่วงง่าย ผลมักมีขนาดเล็กลง ขนาดผลไม่สม่ำเสมอในแต่ละต้น
2.การขาดธาตุแคลเซียม (Calcium deficiency)
ธาตุแคลเซียม (Calcium, Ca) เป็นธาตุองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์พืช จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เซลล์พืชแข็งแรง เป็นธาตุที่มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช ช่วยส่งเสริมการนำธาตุไนโตรเจนจากดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และจัดเป็นธาตุที่มีความจำเป็นอย่างมากในระยะออกดอกและระยะที่สร้างเมล็ด เพราะธาตุแคลเซียมจะมีส่วนในการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนในต้นพืช เพื่อนำไปใช้ในการสร้างผลและเมล็ดต่อไป
อาการของพืชที่ขาดแคลเซียมโดยทั่วไปจะพบมากในบริเวณยอดและปลายราก ยอดอ่อนจะแห้งตาย ใบมักมีการม้วนงอไปข้างหน้าและขาดเป็นริ้ว ๆ ซึ่งจะเกิดที่ใบอ่อนก่อน สำหรับในส้มสายน้ำผึ้งและส้มโอที่ขาดธาตุแคลเซียม จะพบว่าผลส้มจะเกิดรอยแผลปริแตกตรงบริเวณก้นผล หากเป็นมากจะทำให้เปลือกผลปริแตกจากก้นผลขึ้นมา เปลือกผลจากส่วนกลางผลถึงก้นผลจะมีความหนาที่บางกว่าส่วนกลางผลถึงขั้วผล การขาดธาตุแคลเซียมมักพบในดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด สามารถเป็นแก้ไขโดยการใส่ปูนขาว หินปูนบด หินปูนเผา เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน หรือการใส่ปุ๋ยคอกบำรุงดิน และการพ่นธาตุแคลเซียมให้ทางใบ
3.การขาดธาตุสังกะสี (Zinc deficiency)
ธาตุสังกะสี (Zinc, Zn) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการทำหน้าที่ของฮอร์โมนพืช พืชที่ขาดธาตุสังกะสีจะมีการสร้างปริมาณฮอร์โมน IAA ในตายอดลดลง ทำให้ตายอดและข้อปล้องไม่เจริญและขยายตัวนอกจากนี้ธาตุสังกะสียังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและหน้าที่ของเอ็นไซม์หลายชนิดของพืชในการสังเคราะห์แสงและการสร้างอาหาร จึงมีผลกระทบต่อการสร้างส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช ต้นส้มที่ขาดธาตุสังกะสีหรือได้รับสังกะสีไม่เพียงพอกับความต้องการ จะแสดงอาการผิดปกติคือ ใบส้มจะมีสีเขียวซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีเหลืองโดยที่เส้นกลางใบและเส้นแขนงมีสีเขียว โรคที่เกิดจากการขาดธาตุสังกะสีมักเกิดจากการที่ต้นส้มได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ หรือต้นส้มไม่สามารถดูดธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินไปใช้ประโยชน์ได้ การปรับปรุงสภาพและคุณสมบัติของดินปลูกให้อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมโดยการใช้อินทรียวัตถุ การให้ธาตุอาหารอย่างสมดุลและเพียงพอแก่ต้นส้มทั้งทางดินและทางใบในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันและแก้ไขโรคนี้ได้
4.การขาดธาตุแมงกานีส (Manganese deficiency)
ธาตุแมงกานีส (Manganese, Mn) เป็นธาตุที่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของใบ เนื่องจากมีบทบาทเกี่ยวข้องในการสังเคราะห์แสง เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ในต้นพืช และยังควบคุมกิจกรรมของธาตุเหล็กและไนโตรเจนในต้นพืชอีกด้วย
ต้นส้มที่ขาดธาตุแมงกานีสมักสังเกตได้ที่ใบ ใบส้มจะมีสีเหลือง ๆ ส่วนเส้นใบจะเขียวอยู่ปกติ มองดูคล้ายร่างแหสีเขียวบนแผ่นใบที่มีสีเหลือง โดยเฉพาะใบอ่อนอาจเกิดเป็นจุดขาว ๆ หรือจุดเหลืองที่ใบ ต้นส้มมักมีการเจริญเติบโตโตช้า ใบไม่สมบูรณ์ พุ่มต้นโปร่งผิดปกติไม่สมบูรณ์เท่าทีควร
ต้นส้มที่แสดงอาการขาดธาตุแมงกานีสมักให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่ำกว่าปกติ หากเป็นส้มสายน้ำผึ้งหรือส้มเขียวหวาน สีของเนื้อจะเหลืองซีด รสชาติมักจืด ในการป้องกันแก้ไขการขาดธาตุแมงกานีสนอกจากการดูแลให้ดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว การพ่นอาหารเสริมที่มีองค์ประกอบของธาตุแมงกานีสให้ทางใบจะช่วยแก้ไขปัญหาของการขาดได้