น้อยหน่าพันธุ์  “เพชรปากช่อง” เป็นลูกผสมระหว่าง พันธุ์เชริมัวย่า (cherimoya) กับน้อยหน่าหนังครั่งเป็นแม่ ผสมกับพ่อน้อยหน่าหนังเขียว เป็นพันธุ์ที่มีขนาดต้นใหญ่ และสูงกว่าน้อยหน่าทั่วไป ใบมีขนาดกลางรูปหอกสีเขียวเข้ม เห็นเส้นใบเด่นชัด ทรงพุ่มโปร่งปานกลาง ดอกขนาดใหญ่ ผลใหญ่รูปหัวใจ ผิวผลค่อนข้างเรียบมีร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวอ่อนถึงขาวนวล ผลไม่แตกเมื่อแก่ เปลือกบางลอกออกจากเนื้อได้เมื่อสุกจัด  เนื้อเหนียวคล้ายน้อยหน่าหนัง น้อยหน่าพันธุ์นี้ชอบอากาศร้อนแห้งไม่หนาวจัด (เรืองศักดิ์ และคณะ, 2553)

          ทีมงานโซตัสได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ คุณสุรพล พลแก้ว เจ้าของสวนน้อยหน่า ผู้มีประสบการณ์การปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องมานานกว่า 12 ปี ได้บอกเล่าเรื่องราวให้เราฟังว่าจุดเริ่มต้นที่นำน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องมาปลูก เนื่องจากได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่สถานีวิจัยพืชสวนปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ซึ่งมีอาจารย์เรืองศักดิ์ กมขุนทด เป็นผู้ให้คำแนะนำ โดยในช่วงแรกเริ่มปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง 40 ไร่ แล้วค่อยๆ ขยับขยายเพิ่มขึ้น จนตอนนี้มีพื้นที่ปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องถึง 350 ไร่

          คุณสุรพล บอกกับเราว่า การปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องสิ่งแรกที่เราควรทำก็คือ การนำดินในแปลงปลูกไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าดินในแปลงของตัวเองนั้น เหมาะสำหรับการปลูกน้อยหน่าพันธุ์นี้หรือไม่ และเราควรเสริมอะไรลงไปในดินเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นน้อยหน่าได้บ้าง หลังจากนั้นจึงทำการไถพรวน และตากดินอย่างน้อย 7 วัน  และปลูกโดยใช้กิ่งพันธุ์ที่เลือกซื้อมาจากสถานีวิจัยปากช่อง หลุมปลูกมีขนาดความกว้าง ยาว และลึก 40 เซนติเมตร ระยะปลูกคือ 4.5 x 4.5 เมตร

          การให้น้ำในแปลง เป็นระบบแบบสปริงเกอร์ ด้วยพื้นที่ปลูกที่มากจึงต้องเวียนกันให้น้ำ โดยจะแบ่งเป็นบล็อคๆ ละ 3-4 ชั่วโมง ในระยะปลูกใหม่ช่วง 2 ปีแรก จำเป็นต้องให้น้ำสม่ำเสมอจะช่วยให้ต้นน้อยหน่าเจริญเติบโตได้เร็ว รากจะมีการแผ่กระจายอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ และไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่ง เมื่อต้นน้อยหน่าเข้าสู่ปีที่ 3 การให้น้ำก็จะลดลง โดยสังเกตจากสภาพดินและอากาศ คือเมื่อฝนทิ้งช่วงประมาณ 20 วัน ถึงจะทำการให้น้ำ และถ้าอยู่ในช่วงที่เก็บผลผลิตก็จะให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง

           การให้ปุ๋ยนั้นจะใส่ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีร่วมกัน ก่อนการตัดแต่งกิ่งเราก็จะต้องมีการบำรุงต้นน้อยหน่า โดยใส่ปุ๋ยทางดินสูตรเสมอ (16-16-16) ประมาณ 100 กรัมต่อต้น และเสริมด้วยปุ๋ยคอก (ขี้ไก่) ประมาณ 25 กิโลกรัมต่อต้น  หลังจากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งต้นน้อยหน่า โดยจะเริ่มตัดเมื่อน้อยหน่ามีอายุ 3 ปี วิธีการตัดแต่งกิ่ง คือ ตัดเข้ามาจากปลายกิ่ง 15 เซนติเมตร โดยตัดทั้งต้นไม่ให้เหลือใบ หลังจากนั้น 20 วัน ต้นน้อยหน่าก็จะเริ่มแตกยอดและออกดอก

การจัดการเรื่องแมลงและโรค

              ในส่วนของการจัดดูแลเรื่องแมลงนั้น คุณสุรพลจะเน้นไปในทางป้องกันมากกว่าแก้ไข เพราะปลูกเป็นจำนวนมากการแก้ไขอาจจะไม่ทันและไม่ทั่วถึง  แมลงที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการทำน้อยหน่าส่งออกก็คือ เพลี้ยไฟ เพราะจะทำให้ผิวผลไม่สวย ขายไม่ได้ราคา เมื่อมีการติดดอก และเริ่มมีผลอ่อนจะเริ่มคุมเพลี้ยไฟ โดยจะใช้สารกำจัดแมลงหลายกลุ่มสลับกัน เช่น สไปนีโทแรม  อิมิดาคลอพริด และอะบาเม็กติน เพื่อลดการดื้อยาของเพลี้ยไฟ

การทำน้อยหน่าคุณภาพให้ได้  “ผลใหญ่  น้ำนักดี

              คุณสุรพลบอกว่า ในระยะติดผลอ่อนได้มีการใช้ปุ๋ยพ่นทางใบ นูแทค ไฮ-เอ็น ร่วมกับธาตุอาหารเสริมอื่นๆ โดยจะพ่น 3-4 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน เพื่อกระตุ้นการสร้างเมล็ด การขยายขนาดผล และลดปัญหาการหลุดร่วงของผล และจะเริ่มห่อผลเมื่อผลน้อยหน่ามีอายุ 3 เดือน หรือขนาดเท่าผลส้ม โดยใช้ถุงผ้าสปันบอนด์ห่อผลน้อยหน่า และสามารถใช้ถุงซ้ำได้ประมาณ 3 ครั้ง แต่ถ้าหากพบโรคหรือแมลงติดอยู่ภายในถุงก็จะนำไปเผาทำลาย

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

          เมื่อผลน้อยหน่ามีอายุได้ประมาณ 5 เดือนหลังออกดอก จึงจะเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำมาคัดขนาดซึ่งจะแบ่งออกเป็นเบอร์ใหญ่ เบอร์กลาง เบอร์เล็ก เบอร์ก้อย และเบอร์จิ๋ว การแบ่งขนาดผลน้อยหน่านี้ จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักต่อผล ซึ่งจะมีการคัดขนาด ดังนี้

          หลังจากนั้นจะทำการห่อผลน้อยหน่าด้วยตาข่ายโฟมจำนวน 2 ชั้น  เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน ไม่ให้ผลน้อยหน่าช้ำระหว่างการขนส่ง และยังคงความสด ความสมบรูณ์ของผล ทำให้ผลน้อยหน่าดูดี มีราคาเพิ่มขึ้นด้วย และบรรจุลงตะกร้า  ในส่วนของการส่งออกนั้น จะส่งออกไปประเทศจีน โดยจะมีตัวแทนของบริษัทส่งออกมารับไปอีกที

TIPS

สำหรับตลาดเพื่อการส่งออก : สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ผิวของผลน้อยหน่าต้องสวย ไม่มีร่องรอยความเสียหายเนื่องมาจากศัตรูพืช  ขนาดของผลมีผลต่อการส่งออกไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงที่น้อยหน่าขาดตลาด น้อยหน่าเบอร์จิ๋วก็สามารถส่งออกไปขายได้

ขอขอบคุณ

คุณสุรพล พลแก้ว เจ้าของสวนน้อยหน่าเพชรปากช่อง

ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นคราราชสีมา

 


สนใจข้อมูล หรือ ความรู้เพิ่มเติมด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

Line@ ID: goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

Facebook : https://www.facebook.com/sotus.int/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw