โรคสำคัญของส้ม ที่เข้าทำลายและพบระบาดในแหล่งปลูกส้มทุกแหล่ง ซึ่งได้เขียนไปแล้วในโรคสำคัญของส้ม (ตอนที่ 1) แล้ว ซึ่งได้แก่ โรคแคงเกอร์ โรคใบเปื้อนน้ำหมากหรือโรคเมลาโนส  และ โรครากเน่าและโคนเน่า ยังคงมีโรคสำคัญที่พบระบาดทำลายส้มและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  คือ โรคสแค็บ และโรคผลร่วงหรือโรคขั้วผลเน่า

          1.โรคสแค็บหรือโรคแผลสะเก็ด (Scab) โรคนี้เกิดจากเชื้อรา (สฟาซีโลมา : Sphaceloma fawcetti) ส้มพันธุ์ต่างประเทศหลายพันธุ์อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุของโรค สำหรับพันธุ์ส้มซึ่งปลูกในประเทศไทย เช่น ส้มโอ ส้มตรา ส้มเขียวหวาน มีความต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุได้ดีพอสมควร  โรคนี้มักพบการเกิดระบาดของโรคบนพันธุ์ส้ม เช่น ส้มจีน เลมอน มะกรูด และพันธุ์ส้มเปรี้ยวบางชนิดที่ปลูกเพื่อใช้เป็นต้นตอ ทั่วไปจะเกิดการระบาดของโรคตั้งแต่ช่วงปลายฤดูหนาวและนานยาวตลอดฤดูฝน  โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  ปัจจุบันจัดเป็นโรคสำคัญที่พบการระบาดในส้มโอ ส้มตรา ส้มเช้ง  และส้มสายน้ำผึ้ง

          อาการของโรคเกิดได้ทั้งบนใบ ผล และกิ่งก้าน โดยเฉพาะบนผลอ่อนของส้มสายน้ำผึ้ง อาการมักรุนแรงและเป็นแผลจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผลส้มสายน้ำผึ้งแตก  โรคนี้สามารถเข้าทำลายใบตั้งแต่ระยะใบอ่อน ทำให้ใบมีสีเหลืองซีดและมีแผลสะเก็ดคล้ายหูดด้านหน้าใบ ใบบุ๋มบิดเบี้ยวเป็นรูปกรวย บนผลอ่อนของส้มโอและผลอ่อนของส้มสายน้ำผึ้งที่ถูกทำลายจะเป็นแผลสะเก็ด ผลอ่อนส้มสายน้ำผึ้งที่มีอายุผลตั้งแต่ 2-2.5เดือน จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรคมาก แรกเกิดจะเป็นสีเหลืองสีและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในที่สุด แผลนูนฟูคล้ายแผลที่เกิดจากโรคแคงเกอร์  อาจพบการเกิดทำลายของโรคหากปล่อยให้โรคระบาดรุนแรง  ต้นที่เป็นโรคมักทรุดโทรมและแคระแกร็น

          การป้องกันกำจัดโรค เกษตรกรสามารถป้องกันโรคนี้ได้โดย

          1.เลือกกิ่งหรือต้นพันธุ์ที่แข็งแรงและปราศจากโรคมาปลูก

          2.ในแต่ละปีควรมีการตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งที่มีหนาม กิ่งบิดไขว้ มีจัดการทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อให้แสงแดดส่องได้ถึงภายในทรงพุ่ม และอากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก

          3.พ่นสารเคมีกำจัดเชื้อราประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (ฟังกูราน-โอเอช) คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ (โคบ๊อกซ์) อย่างน้อย 1-2 ครั้ง โดยพาะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

          4.ในระยะผลอ่อนของส้มที่มีความอ่อนแอต่อโรค เกษตรกรต้องสำรวจและตรวจสภาพการเกิดโรคอย่างสม่ำเสมอ และควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคในกลุ่มของคาร์เบนดาซิม (เบ็นตัส) โปรปิเน็บ คลอโรทาโลนิล เป็นต้น

            2.โรคผลร่วงหรือโรคขั้วผลเน่า (Fruit drop disease or Stem end rot)  ผลส้มโอ ส้มเขียวหวาน รวมถึงส้มสายน้ำผึ้ง  อาจเกิดการร่วงของผลได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อนจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยว  สามารถแบ่งช่วงระยะการร่วงของผลส้มได้เป็น 3 ช่วง กล่าวคือ

            ระยะเริ่มติดผล (หลังจากดอกบาน) ถึงระยะผลอ่อนอายุ 1-2 เดือน การร่วงของผลอ่อนระยะนี้ มักเกิดจากดอกส้มไม่ได้รับการผสมเกสรหรือมีการผสมเกสรไม่สมบูรณ์  อากาศร้อนจัด ต้นส้มไม่สมบูรณ์  เป็นโรคทริสเตซ่าและ/หรือโรคฮวงลองบิง  ต้นส้มขาดธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี และ โบรอน และสาเหตุสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ ต้นส้ม (โดยเฉพาะส้มสายน้ำผึ้ง) มีการผลิแตกใบอ่อนรุ่นใหม่จำนวนมากหลังจากการติดผลอ่อน (ที่ผลมีอายุน้อยกว่า 2 เดือน)

            ระยะผลอ่อนอายุ 4-6 เดือน (หลังดอกบานหรือติดผล) ผลส้มที่เกิดการร่วงในระยะนี้มักเกิดจากผลส้มเกิดจากดอกที่มีการผสมเกสรไม่สมบูรณ์และผลมีลักษณะเบี้ยว  สภาพต้นส้มมีผลบนต้นจำนวนมากเกินไป (เกินกำลังของต้น) ต้นส้มเป็นโรคทริสเตซ่า และ/หรือโรคฮวงลองบิง (หรือเรียกว่าโรคกรีนนิ่ง) ต้นส้มมีอาการขาดธาตุรองและจุลธาตุ เช่น แมกนีเซี่ยมสังกะสี

            ระยะผลเติบโตเต็มที่และเริ่มแก่พร้อมการเก็บเกี่ยว (ก่อนการเก็บเกี่ยว 1-2 เดือน)  การร่วงของผลส้มในระยะนี้ บางครั้งเรียกว่า “โรคผลร่วง” หรือ “โรคราขั้วผลเน่า”  โรคนี้เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น  Cooletotrichum gloeosporioides, Sphaceloma fawcetti, Botryodiplodia sp. Diplodia sp.,  Phomopsis sp., Fusarium sp. และ Phytophthora parasitica  โรคนี้พบว่าเกิดระบาดมากในสวนส้มที่รกทึบขาดการดูแลโดยเฉพาะเรื่องการตัดแต่ง กิ่งไขว้ซ้อนกัน มีกิ่งแห้งมาก ต้นส้มขาดธาตุอาหาร ต้นส้มที่ดินแน่น ชื้นแฉะ และมีน้ำท่วมรากตลอดเวลา สภาพในลักษณะดังกล่าวจะส่งเสริมให้เชื้อราก่อโรคได้ง่ายและรุนแรง

            การป้องกันกำจัดโรค

            1.การดูแลปฏิบัติให้สภาพของต้นส้มสมบูรณ์แข็งแรง ตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้รกทึบ โดยเฉพาะกิ่งแห้งและกิ่งที่เป็นโรค

            2.จัดการทรงพุ่มและการค้ำกิ่งที่ดี และเป็นระเบียบ ระวังการฉีกหักและทับซ้อนของกิ่ง

            3.ในฤดูฝน ควรมีการกำจัดวัชพืชบริเวณทรงพุ่ม อย่าปล่อยให้รกทึบมาก ระวังอย่าให้น้ำท่วมบริเวณโคนต้นและทรงพุ่ม

            4.ในสภาพแปลงปลูกที่พบการระบาดของโรคยางไหล (และโรครากเน่าโคนเน่า)  โรคเมลาโนสหรือเปื้อนน้ำหมาก โรคแอนแทรคโนสหรือกิ่งแห้ง มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคขั้วผลเน่ามาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องควบคุมจัดการโรคดังกล่าว

            5.พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น สารประกอบคอปเปอร์ แมนโคเซบ บ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในฤดูฝน และ เมื่อผลส้มมีอายุ 6-8 เดือน

            6.หากเริ่มพบการเกิดและระบาดของโรค ให้พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อโรค เช่น คาร์เบนดาซิม (เบ็นตัส) แมนโคเซบ (ไดเทน เอ็นที เอ็ม-45) คลอโรทาโลนิล ไธอะเบนดาโซล โปรปิเนบ เป็นต้น ในอัตราแนะนำของสารแต่ละชนิด อย่างน้อย 7-10 วัน/ครั้ง  2-3 ครั้งติดต่อกัน

             3.โรคราสีชมพู (Pink disease) โรคราสีชมพูเกิดจากการทำลายของเชื้อรา (คอร์ติเซียม : Corticium  salmonicolor )  โรคนี้พบบนต้นไม้ผลและไม้ยืนต้นหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย ลองกอง กาแฟ ยางพารา และเป็นกับส้มหลายชนิด เช่น  ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง มะนาว เม็กซิกันไลม์ และพันธุ์ส้มที่นำมาจากต่างประเทศหลายพันธุ์  เชื้อราสาเหตุของโรคเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง สร้างสปอร์ที่ปลิวแพร่กระจายไปกับลม ติดไปกับดินหรือส่วนของกิ่งและต้นพันธุ์ได้ โรคนี้สามารถพบได้เสมอ ๆ ตลอดปีแต่มักพบระบาดรุนแรงในปลายฤดูฝนและตลอดฤดูหนาว  ในแปลงปลูกส้มที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ต้นที่ทรงพุ่มรกทึบ ขาดการดูแลตัดแต่งและการจัดทรงพุ่ม และแปลงปลูกมีวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น

             ลักษณะอาการ : เชื้อราอาศัยและทำลายบนส่วนเปลือกของลำต้นหรือกิ่งส้ม มักเกิดกับกิ่งกลางลำต้นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเริ่มเป็นโรคจะมีอาการใบเหลือง เหี่ยว และร่วงง่าย คล้ายกับอาการซึ่งเกิดเนื่องจากโรคยางไหลหรือรากเน่าโคนเน่าหรือเกิดจากแมลงเจาะทำลายกิ่งหรือลำต้น  จะพบเชื้อราสีชมพูอยู่บนเปลือกมองดูคล้ายกับการทาป้ายด้วยปูนแดงหรือปูนกินหมาก  หากเฉือนเปลือกดูจะพบว่าเปลือกช้ำเป็นสีน้ำตาลดำ ด้านในของเปลือกมีจุดขนาดเล็ก ๆ ฉ่ำน้ำ หรืออาจลุกลามเป็นแผลใหญ่ เชื้อราอาจลุกลามจากลำต้นหรือกิ่งที่เป็นโรคไปสู่กิ่งอื่นๆ ทำให้เกิดอาการแห้งตายของกิ่งหรือลำต้น

            การป้องกันกำจัด

            1.ดูแลปฏิบัติสภาพแปลงปลูกและต้นส้มให้เหมาะสม เช่นการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ทรงพุ่มไม่แน่นทึบ

            2.บำรุงรักษาต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ธาตุอาหารรอง ที่เหมาะสมกับความต้องการของต้นส้ม ในระยะการเจริญเติบโตของต้นส้ม ชนิดและสภาพของดินปลูก และผลการวิเคราะห์ดิน

            3.ตัดแต่งกิ่งหรือส่วนที่เป็นโรคโดยการนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณของเชื้อสาเหตุ

            4.พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น สารประกอบคอปเปอร์ (ฟังกูราน-โอเอช) แมนโคเซบ (ไดเทน เอ็นที เอ็ม-45) ในอัตราแนะนำของสารแต่ละชนิด