เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก พบได้ทั่วโลก มีการจำแนกแล้วมากกว่า 6,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นศัตรูพืช แต่บางชนิดเป็นตัวห้ำ จับแมลงชนิดอื่นหรือไรที่มีขนาดเล็กกว่ากินเป็นอาหาร ตัวอ่อนเพลี้ยไฟมักมีสีเหลืองนวล เมื่อเป็นตัวเต็มวัย จะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองเข้ม เหลืองปนน้ำตาล น้ำตาลเข้ม หรือสีดำ แล้วแต่ชนิด ตัวอ่อนเพลี้ยไฟไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีปีกเรียวยาวคล้ายกระบอง ลักษณะเป็นแผ่นบางใส มีขนยาวรอบขอบปีก เวลาเกาะปีกจะแบนราบซ้อนและขนานกันบนสันหลังและลำตัว เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นขีดสีขาวบนลำตัว ส่วนท้องมีลักษณะเรียวยาว มีจำนวน 10 ปล้อง การสืบพันธุ์ของเพลี้ยไฟมีทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ ถ้าเป็นแบบไม่อาศัยเพศลูกที่ได้จะเป็นตัวผู้ทั้งหมด
เพลี้ยไฟข้าว : Stenchaetothrips biformis (Bagnall)
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย : ข้าว ข้าวโพด อ้อย
เพลี้ยไฟพริก : Scirtothrips dorsalis Hood
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย : ทำลายพืชได้หลากหลายชนิด เช่น พริก มะเขือเทศ หอม กระเทียม พืชตระกูลแตง กุหลาบ ส้ม มะม่วง มังคุด เงาะ พุทรา พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดหวาน
เพลี้ยไฟหอม เพลี้ยไฟมันฝรั่ง : Thrips tabaci Lindeman
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย : หอม กระเทียม มะเขือเทศ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง พืชตะกูลกะหล่ำ พืชตระกูลแตง ยาสูบ
เพลี้ยไฟฝ้าย เพลี้ยไฟกล้วยไม้ เพลี้ยไฟแตง : Thrips palmi Karny
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย : ฝ้าย กล้วยไม้ พืชตระกูลแตง หอม มะเขือเทศ พืชตระกูลถั่ว เบญจมาศ มะม่วง ส้ม เป็นแมลงที่ก่อให้เกิดปัญหากับการส่งออกกล้วยไม้ของประเทศไทย
เพลี้ยไฟดอกไม้ตะวันตก : Frankliniella occidentalis Pergande
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย:ไม้ดอก ไม้ผลเมืองหนาวเกือบทุกชนิด กุหลาบ กล้วยไม้ พริกหวาน
เพลี้ยไฟมะม่วง : Rhipiphorothrips cruentatus Hood
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย : องุ่น มะม่วง มะม่วงหิมพานต์
เพลี้ยไฟมังคุด : Scirtothrips oligochaetus (Karny), Scirtothrips dorsalis Hood
พืชสำคัญที่เข้าทำลาย : มังคุด ฝ้าย
เพลี้ยไฟแทบทุกชนิดมีขนาดเล็กมาก มีลําตัวยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยมีลําตัวสีเหลือง เหลืองปนน้ำตาล น้ำตาลเข้ม จนถึงดำ มีปีก 2 คู่ ลักษณะแคบยาวประกอบด้วยขนเป็นแผงตามขอบปีก เพศเมียตัวใหญ่กว่าเพศผู้ วางไข่ในเนื้อเยื่อบนใบอ่อนใกล้เส้นกลางใบ หรือยอดอ่อนและผลอ่อน ไข่มีขนาดเล็กมาก สีขาวใส ขนาดยาว 0.2-0.3 มิลลิเมตร ระยะไข่ 3-4 วัน และฟักเป็นตัวอ่อน มีสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ตัวอ่อนที่โตเต็มที่ยาวประมาณ 0.7-1 มิลลิเมตร ระยะตัวอ่อน 6-10 วัน ก่อนเข้าสู่ระยะพักตัวซึ่งมีลักษณะคล้ายตัวอ่อนแต่มีแผงปีกแนบอยู่บนลําตัว ระยะนี้จะไม่กินอาหาร ไม่เคลื่อนไหว เพลี้ยไฟจะอยู่ในระยะพักตัว ประมาณ 3-4 วันก่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยจะพักตัวใต้เศษซากพืชบริเวณผิวหน้าดินใต้ต้นพืช ตัวเมียสามารถวางไข่ได้โดยไม่ต้องผสมกับตัวผู้ หรือผสมก็ได้ ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเจริญเติบโตเป็นเพลี้ยไฟเพศผู้ ตัวเต็มวัยมีอายุ 14-24 วัน
ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟ สามารถทำลายพืชโดยใช้กรามซึ่งมีข้างซ้ายเพียงข้างเดียว เขี่ยเซลล์พืชให้แตก และใช้ส่วนของปากที่เหลือที่มีลักษณะคล้ายเข็มในการดูดน้ำเลี้ยง จากส่วนอ่อนหรือส่วนเจริญของพืช เช่น ตา ใบอ่อน ดอก และผล เป็นต้น ในระยะแรกสีของเซลล์พืชบริเวณที่ถูกทำลายจะหายไป เกิดเป็นรอยขีดสีเงิน เกษตรกรจึงมักเรียกเพลี้ยไฟที่เข้าทำลายดอกกล้วยไม้ว่า “ตัวกินสี” ส่วนของพืชที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายจะสังเกตเห็นได้ง่าย คือ จะมีอาการหงิกงอ เป็นคลื่น มีสีขาวซีด ถ้าอากาศแห้ง พืชขาดน้ำ หรือถ้ามีการทำลายรุนแรงส่วนนั้นๆ จะเป็นรอยด่างสีน้ำตาล เหี่ยวแห้ง
การทำลายดอก เพลี้ยไฟจะเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นตาดอก ทำให้ตาดอกเหี่ยวแห้ง ไม่ออกดอก หากเข้าทำลายในระยะดอกตูมจะทำให้ดอกมีรูปร่างผิดปกติ กลีบดอกหงิกงอบิดเบี้ยว และเล็กลงมาก จนถึงเป็นรอยด่างสีน้ำตาล หรือดอกแห้ง หลุดร่วง
อาการที่ใบอ่อน ถ้าเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่เริ่มแตกใบอ่อน จะทำให้เป็นรอยแผลสีน้ำตาล ถ้าระบาดทำลายรุนแรงใบจะไหม้ หงิกงอ ขอบใบม้วนแห้งทั้งใบ และร่วงในที่สุด
การทำลายที่ผลอ่อน ทำให้เกิดแผลที่ผิวเปลือก มีสีน้ำตาล กร้าน มียางไหลออกมา ทำให้ผลไม่เจริญเติบโต ผลร่วง ผิวเปลือกที่ถูกทำลายจะมีลักษณะขรุขระ เป็นขี้กลาก ผลบิดเบี้ยวไม่สวยงาม
นอกจากนี้ความเสียหายจากเพลี้ยไฟยังเกิดจากของเหลวที่เพลี้ยไฟขับถ่ายออกมามีลักษณะคล้ายหยดน้ำเล็กๆ ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืช ของเหลวเหล่านี้เมื่อแห้งจะทำให้พืชเกิดรอยตำหนิเป็นจุดสีดำ ที่สำคัญเพลี้ยไฟบางชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่พืช ซึ่งการถ่ายทอดเชื้อไวรัสเกิดจากเพลี้ยไฟตัวอ่อนระยะแรกรับเชื้อไวรัสจากพืชที่เป็นโรค และเมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะถ่ายทอดเชื้อนี้ไปยังพืชต้นใหม่ผ่านทางน้ำลายในระหว่างการดูดกินน้ำเลี้ยง
โดยปกติเพลี้ยไฟจะระบาดหนักในช่วงแล้ง อากาศร้อน หรือฝนทิ้งช่วง ในระยะปลายหรือต้นฤดูฝนเป็นหลักโดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม วงจรชีวิตตั้งแต่ไข่ถึงตัวเต็มวัยประมาณ 15-30 วัน ระยะไข่ถึงตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของพืชได้โดยวิธีเขี่ยและดูด (การเขี่ยทำให้ผลเป็นแผล) ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 100-500 ฟอง การสืบพันธุ์ของเพลี้ยไฟมีทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ ถ้าเป็นแบบไม่อาศัยเพศลูกที่ได้จะเป็นตัวผู้ทั้งหมด หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ เพลี้ยไฟสามารถบินได้ในระยะใกล้ๆ ระหว่างใบ แต่สามารถแพร่กระจายไปตามแหล่งต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยอาศัยลมเป็นพาหะ พบได้ตามแหล่งปลูกพืชผัก พืชไร่ และไม้ดอก
-
ในช่วงอากาศแห้งแล้ง ให้ฉีดพ่นน้ำ หรือติดตั้งระบบสปริงเกอร์ เพื่อเพิ่มความชื้นในสภาพแวดล้อม ทำให้พืชสามารถชดเชยความเสียหายบางส่วนจากการการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟได้ นอกจากนั้นหยดน้ำยังมีผลให้เพลี้ยไฟบางส่วนตายและทำให้ผิวหน้าดินแน่นขึ้น ทำให้เพลี้ยไฟระยะพักตัวไม่สามารถออกเป็นตัวเต็มวัยได้ จึงช่วยลดปริมาณเพลี้ยไฟลง
-
ใช้กับดักกาวเหนียวแขวนหรือปักไว้ในสวน เพื่อดักจับเพลี้ยไฟตัวเต็มวัย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณเพลี้ยไฟลงแล้ว ยังใช้ตรวจสอบว่าเริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในแปลงพืชหรือยัง ช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อการควบคุม หรือเพื่อทำนายการระบาดต่อไป สีของกับดักกาวเหนียวอาจใช้สีเหลือง ขาว หรือฟ้า แล้วแต่ชนิดของเพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟส่วนใหญ่ถูกดึงดูดด้วยสีเหลือง แต่กับดักกาวเหนียวสีขาวหรือสีฟ้าสามารถดักจับเพลี้ยไฟบางชนิด เช่น เพลี้ยไฟกล้วยไม้ได้ดีกว่าสีเหลือง
-
การใช้สารกำจัดแมลง ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์ โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูปลูก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มักเป็นพิษต่อตัวห้ำตัวเบียนสูง หากจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง ให้หลีกเลี่ยงการพ่นในช่วงอากาศร้อนจัดเนื่องจากเพลี้ยไฟมักหลบซ่อนตัว พ่นสารตามอัตราแนะนำที่ระบุบนฉลาก และมีการสลับกลุ่มสารเคมีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือชะลอการพัฒนาความต้านทานของเพลี้ยไฟต่อสารกำจัดแมลง การสลับกลุ่มสารเคมีจะทำให้ประชากรของเพลี้ยไฟที่เริ่มพัฒนาความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงกลุ่มแรกตายเนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างไปของสารกลุ่มที่สอง ทำให้หมดโอกาสในการส่งผ่านความต้านทานต่อสารกลุ่มแรกไปยังรุ่นถัดไป และเพลี้ยไฟที่เริ่มพัฒนาความต้านทานต่อสารกลุ่มที่สองก็ตายและหมดโอกาสส่งผ่านความต้านทานไปยังรุ่นถัดไปเช่นกันหากสลับด้วยสารกลุ่มที่สามที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างไปจากกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง ซึ่งทำให้เมื่อครบรอบการสลับและเวียนกลับมาใช้สารเดิมอีกครั้ง สารดังกล่าวจะยังคงมีประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยไฟได้ต่อไป