การปลูกชมพู่ไต้หวัน ซึ่งจะยกแปลงลูกฟูกให้กว้างประมาณ 6 เมตร เพื่อการระบายน้ำที่ดี ซึ่งหลังยกร่องแล้วก็จะตากดินไว้ อีก 1 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงในดิน หรือชาวสวนสามารถทำการปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวได้ก็จะยิ่งดีเพื่อฆ่าเชื้อ และปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ส่วนระยะปลูกนั้น ใช้ระยะปลูก 6 x 6 เมตร (ระยะปลูกสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เช่น ในบางพื้นที่อาจจะปลูกถี่กว่านี้ แต่เน้นการตัดแต่งควบคุมทรงพุ่ม) ในการเตรียมหลุมปลูก จะขุดขนาด กว้าง 50 ซม. x ยาว 50 ซม. x ลึก 30 ซม.  การขุดหลุมปลูกจะขุดแยกดินหน้าไว้ข้างหนึ่ง และดินล่างไว้อีกข้างหนึ่ง แล้วเอาปุ๋ยคอกประมาณ 10 กิโลกรัม ผสมกับหน้าดินอัตราส่วน 1 : 1 และปุ๋ยสูตร 16-16-16 ประมาณ 1 กำมือ แล้วกลบดินลงหลุมลงไปในหลุมจนพูนสูงเป็นเนินหลังเต่า  เพื่อจะได้ระบายน้ำดีในช่วงแรก  จากนั้นใช้จอบขุดเป็นหลุมปลูกขนาดเท่ากับตุ้มดินปลูกบนยอดหลังเต่า   การปลูกนำต้นพันธุ์ชมพู่ซึ่งตอนนั้นเป็นกล้ากิ่งตอนที่ชำไว้พร้อมปลูก นำมาถอดหรือกรีดถุงเพาะชำออก  วางกิ่งพันธุ์ให้กึ่งกลางหลุมที่ขุดเตรียมไว้แล้วกลบดินให้แน่นปักไม้ และผูกเชือกยึดลำต้น ปลูกเสร็จต้องรดน้ำให้ชุ่มทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นชมพู่ที่ปลูกใหม่เหี่ยวเฉา ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงแรกของการปลูก  การให้น้ำเนื่องจากชมพู่เป็นพืชชอบน้ำ ดังนั้นในการผลิตชมพู่จึงจำเป็นต้องมีการให้น้ำชมพู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงการเลี้ยงผลซึ่งจะช่วยขยายขนาดผลให้ใหญ่และผลไม่แตก

               ปุ๋ยคอก ซึ่งนอกจากใส่ตอนเตรียมหลุมปลูกแล้ว เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกเก่า อีกประมาณ  5-10 กิโลกรัมต่อต้น ตามความสมบูรณ์ของต้น และสภาพดินของเกษตรกร  ชนิดปุ๋ยคอกแล้วแต่จะสามารถจัดหามาได้ในท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยมูลไก่ มูลหมู และมูลวัว เป็นต้น แต่ที่สำคัญของการให้ปุ๋ยคอกนั้น ปุ๋ยคอกทุกชนิดต้องเป็นปุ๋ยคอกเก่าและมีการสลายตัวเรียบร้อยแล้ว หว่านในบริเวณรอบทรงพุ่มและนอกทรงพุ่มเล็กน้อย ซึ่งควรมีการพรวนดินห่างจากชายทรงพุ่มออกไปเล็กน้อย ประมาณ 30 เซนติเมตร หรือใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่สามารถทำเองได้และใช้ได้ผลดี

             ปุ๋ยเคมี สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีนี้เกษตรกรควรพิจารณาตามระยะการเติบโต และอายุของต้นชมพู่และปริมาณผลผลิตที่ให้ในฤดูกาลที่ผ่านมาด้วย  สำหรับต้นชมพู่ที่ยังไม่ให้ผล ช่วงนี้ชมพู่ต้องการปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น กิ่ง ใบ เป็นหลัก ปุ๋ยเคมีควรใช้สูตรเสมอ เช่น  16 - 16 - 16 โดยให้ปริมาณครึ่งหนึ่งของอายุต้น ดังนั้นชมพู่ที่ปลูกปีแรกควรให้ปุ๋ยเคมีประมาณ 500 กรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน 1 ครั้ง และปลายฤดูฝนอีก 1 ครั้ง ส่วนในต้นที่ให้ผลแล้วอายุ 2 ปีขึ้นไป  ช่วงก่อนหลังเก็บผล ต้องมีการบำรุงต้น กิ่ง ก้าน ใบ ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 16 - 16 - 16 ในอัตราประมาณ 500 กรัม / ต้น ช่วงก่อนออกดอก เพื่อให้ชมพู่ออกดอกมากขึ้นนั้น ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 12 - 24 - 12 หรือ 8 - 24 - 24 ในอัตราส่วน 200 - 300 กรัม / ต้น  ช่วงพัฒนาผล หลังจากชมพู่ติดผลแล้วนั้น ผลจะมีการพัฒนาในระยะแรก จะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยเคมี เช่น สูตร16 - 16 - 16 (หรือบวกกับปุ๋ย 15-0-0 อัตรา 1 ต่อ 1 ส่วน) หรือเลือกใช้ปุ๋ยสูตร 13-10-21 หรือ 11-6-25 ปริมาณ 200 - 300 กรัม / ต้น หลังผลใหญ่ขึ้นแล้วก่อนที่เก็บผล 15 วัน เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูง เช่น สูตร  13 - 13 – 21 , 8-24-24, 0-0-60  ปริมาณ  300 -500 กรัม / ต้น (การใส่จะพิจารณาตามอายุและขนาดของต้น) และสามารถใส่ได้ทุกเดือนในช่วงที่เลี้ยงผลเน้นใส่บ่อยแต่ให้ปุ๋ยทีละน้อย

             ส่วนปุ๋ยทางใบ เป็นปุ๋ยที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ของการเจริญเติบโตของชมพู่ เช่น จะฉีดพ่นปุ๋ยที่เพิ่มคุณภาพผลและเน้นสูตรปุ๋ยที่มีตัวท้าย (K) สูง ที่ช่วยเพิ่มความหวานและทำให้เข้าสี ทำให้ชมพู่สีแดงเข็มด้วย โดยจะฉีดชมพู่ตั้งแต่ห่อผลเสร็จไปตลอด ทุกๆ 7 วัน หรือปุ๋ยน้ำ,ปุ๋ยเกล็ดที่มีสูตรตัวท้ายสูง เช่นสูตร 5-20-25, 8-17-41, 0-0-60 เป็นต้น ซึ่งความหวานของชมพู่ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลิตชมพู่

                  การดูแลตัดแต่งกิ่งชมพู่ การตัดแต่งกิ่งนอกจากทำให้ได้ทรงพุ่มตามต้องการแล้ว ยังช่วยลดปริมาณโรค-แมลง และสารป้องกันกำจัดโรค-แมลงที่ฉีดพ่นด้วย การตัดแต่งทรงพุ่ม ควรเริ่มทำเมื่อชมพู่มีขนาดเล็กหลังจากปลูกใหม่ โดยการเลี้ยงลำต้นประธานเพียงต้นเดียว และที่ความสูงจากพื้นดิน 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดชมพู่จะทำให้กิ่งที่แตกแขนงมาใหม่ 2 กิ่ง ที่ระยะ 6 - 12 นิ้ว ให้ตัดกิ่งทั้ง 2 แล้วให้แตกเพิ่มเป็น 4 กิ่ง ทำอย่างนี้ไปจะได้กิ่งแขนง 8 กิ่ง ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ต้นชมพู่มีโครงสร้างแข็งแรง และแสงส่องผ่านกิ่งโคนต้นได้ การปฏิบัติงานใต้ทรงพุ่มก็จะสะดวกด้วย  และการตัดแต่งเมื่อต้นชมพู่โต การตัดแต่งโดยเลือกตัดแต่งกิ่ง ดังนี้  กิ่งไขว้ หรือกิ่งซ้อนทับกัน ให้เลือกกิ่งที่เป็นโครงสร้างหลักไว้   กิ่งที่โรคแมลงหรือกาฝากอาศัย   กิ่งฉีกหัก หรือกิ่งแห้ง    กิ่งกระโดงที่เจริญเติบโตจากในทรงพุ่มทะลุออกเหนือทรงพุ่ม  ส่วนยอดที่สูงจากพื้นดินเกิน 2 เมตร เป็นต้น

                  ต้นชมพู่ไต้หวันหลังปลูกเพียง 4-6 เดือน เริ่มออกดอกติดผลให้ผลผลิตแล้ว หลังจากปลูกและดูแลบำรุงต้นชมพู่ไต้หวันได้ราว 4- 6 เดือน ต้นชมพู่ไต้หวันทั้ง 2 สายพันธุ์ ก็จะพร้อมให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้บ้าง 3-8 กิโลกรัม แต่จะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 2 เป็นต้นไป เพราะด้วยขนาดต้นและทรงพุ่มที่โตมากพอควรแล้ว โดยต่อการออกดอก 1 รุ่นสามารถห่อผลได้ครั้งละ 40-80 ถุง (ขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม) หรือเป็นน้ำหนักก็ประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่ง 1 ถุงห่อจะเลือกไว้ผล 3-5 ผลจะเหมาะสมที่สุด  จะได้ชมพู่ที่มีคุณภาพ ทรงผลสวย และผลใหญ่  ซึ่งการห่อผลชมพู่นั้น การปลิดผลที่มากเกินไปจึงมีความสำคัญมากเพราะจะเป็นการกำหนดขนาดและน้ำหนักของผลชมพู่ว่าจะมีผลเล็กหรือใหญ่เพียงใด  โดยหลักการง่ายๆ ยิ่งไว้ผลมากผลยิ่งเล็ก อย่างการไว้ผล 5 ผลต่อช่อขึ้นไปย่อมทำให้ผลชมพู่มีขนาดเล็ก ไว้ผลน้อยก็ยิ่งจะได้ชมพู่ผลใหญ่  ดังนั้นต้องเลือกไว้ผลอย่างเหมาะสม ซึ่งการออกดอกชมพู่จะออกบริเวณกิ่งในทรงพุ่มและส่วนยอด (แล้วแต่สายพันธุ์)  หลังจากดอกได้รับการผสมแล้วก็จะติดเป็นผล ที่มีขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายถ้วย หลังจากนั้นผลจะขยายใหญ่มีสีเข้มขึ้นเป็นทรงผลชมพู่ขนาดเล็ก เกษตรกรควรทำการปลิดผลที่ถูกโรคแมลงทำลาย โดยเฉพาะผลชมพู่ที่แมลงวันทองเจาะทำลายและเพลี้ยไฟทำลายผิว คนห่อต้องเลือกปลิดทิ้งไป ผลที่มีขนาดเล็กหรือรูปร่างผิดปกติออก โดยเหลือไว้ช่อละ 3-5 ผลเท่านั้น กรณีที่มีช่อผลหลายๆ ช่ออยู่มากในกิ่งเดียวกันไม่ควรเก็บไว้ ให้เลือกปลิดช่อที่มากเกินไปออก อย่างการออกดอกของชมพู่ไต้หวันทั้งชมพู่ยักษ์ไต้หวันและชมพู่สตรอเบอร์รี่ นิสัยจะออกดอกเป็นจำนวนมากเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหารกันเองทำให้ผลมีขนาดเล็ก และจำนวนการห่อไม่ควรมากเกินไป โดยให้สัมพันธ์กับทรงพุ่มและความสมบูรณ์ของต้น

                 การห่อผลทำให้ผิวสวยป้องกันการทำลายจากแมลงวันทอง   ก่อนห่อผลแนะนำให้ฉีดพ่นฮอร์โมนช่วยบำรุงดอก เช่น แคลเซียมโบรอน เพื่อช่วยผสมเกสรง่ายและติดผลดี ฉีดพ่นสัก  2-3 ครั้ง คือช่วงเริ่มออกดอก ดอกเริ่มบาน และหลังเกสรดอกเริ่มโรย  การห่อผลชมพู่จะทำควบคู่กับการปลิดเลยในเวลาเดียวกัน ในการห่อผลนี้เกษตรกรจะเลือกถุงพลาสติกแบบมีหูหิ้วสีขาวขุ่นเจาะ 3-5 รูหรือใช้มีดกรีดก้นถุงเพื่อให้เป็นรูระบายน้ำออกและระบายอากาศ ก่อนห่อจะใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เพื่อฆ่าแมลงศัตรูที่อาจจะเกาะที่ผล เช่น เพลี้ยไฟ  + ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน อัตรา 10 ซีซี  เพื่อทำให้ทรงผลชมพู่ยาว และขยายขนาดผล เพื่อช่วยบำรุงผล ผสมทั้งหมดในน้ำ  5 ลิตร โดยจะแบ่งใส่ในกระบอกฉีดน้ำหรือฟ็อกกี้ เมื่อปลิดผลเสร็จจะฉีดด้วยสารและฮอร์โมนดังกล่าว  แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกมีหูหิ้ว ขนาด 6 x 14 หรือ 7 x 15  นิ้ว โดยจะผูกปากถุงด้วยเงื่อนชั้นเดียวแล้วอาจจะผูกโยงหูถุงกับกิ่งหลักในทรงพุ่มด้วยเชือกฟางเพื่อไม่ให้กิ่งฉีกหักเมื่อผลชมพู่โตน้ำหนักก็จะมากขึ้น  หลังจากห่อผลได้ราว 1 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวชมพู่ขายได้ ซึ่งรวมเวลาตั้งแต่แทงช่อดอกจนเก็บเกี่ยวได้จะใช้เวลาราวๆ 3 เดือน  การเก็บเกี่ยวหากทิ้งชมพู่ไว้เกินอายุการเก็บเกี่ยว จะทำให้ผลชมพู่แตกหรือร่วงเสียหายได้ การเก็บนั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้วจะสะดวกและรวดเร็ว  จะเก็บมาทั้งถุงที่ห่อชมพู่แล้วใส่เข่งที่กรุด้วยกระสอบปุ๋ยหรือใบตองหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อป้องกันความคมของภาชนะที่จะทำให้ผิวชมพู่บอบช้ำได้ง่าย จากนั้นจึงทำการคัดเลือกชมพู่   โดยเริ่มที่แกะถุงห่อชมพู่ออก คัดคุณภาพ   โดยคัดผลแตก ผลเป็นโรคและแมลงทำลาย ทั้งนี้รวมทั้งผลที่มีรูปร่างผิดปกติออก คัดขนาด บรรจุลงตะกร้าพลาสติกที่ด้านข้างกรุด้วยใบตองหรือกระดาษ แล้วปิดทับด้านหน้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อรักษาความชื้นของชมพู่ไว้ รอให้แม่ค้ามารับไปขายต่อ

สนใจต้นพันธุ์หรือผลผลิต “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน”และ“ชมพู่สตรอเบอร์รี่”ของแท้ ติดต่อได้ที่ “สวนคุณลี” อ.เมือง จ.พิจิตร

Tel. 081-9013760, 081-8867398

Facebook : สวนคุณลี

ID Line : LEEFARM2


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw