โรคดอกสนิมหรือโรคดอกจุดสีสนิม  โรคนี้เป็นปัญหามากเพราะกล้วยไม้อาจแสดงอาการระหว่างการขนส่งได้ โรคระบาดรุนแรงกับดอกกล้วยไม้สกุลหวายทุกสายพันธุ์  การเกิดระบาดมักเกิดในระยะเวลาของรอยต่อของฤดูกาล โรคนี้ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนหรือสภาพที่มีน้ำค้างลงจัด หรือเมื่ออากาศมีการเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ยังพบว่า หากใช้เครื่องปลูกที่มีลักษณะขังน้ำ เช่น กาบมะพร้าวที่วางแบบเรือใบ มีส่วนทำให้โรคสามารถเกิดได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้น  สาเหตุของโรคคือเชื้อราเคอร์วูลาเรีย (Curvularia eragrostidis) เชื้อราเข้าทำลายที่กลีบดอกกล้วยไม้

            แผลที่เกิดจากการถูกทำลาย ระยะแรกเป็นจุดสีขาวหรือสีซีดขนาดเล็ก ต่อมาลุกลามกลายเป็นแผลสีฟางข้าว จุดขยายใหญ่มีสีเขียวเข้มคล้ายสนิมและกลายเป็นแผลจุดสีน้ำตาลแดงหรือสีคล้ายสีสนิมในที่สุด  แผลมีรูปร่างกลมหรือกลมรี ขนาด0.4-0.8 ซม. กลางแผลเป็นจุดสีเข้ม  เชื้อราสาเหตุมักเข้าทำลายบนกลีบดอกของกล้วยไม้ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังกลีบดอก  เชื้อราจัดเป็นราที่ฟุ้งกระจายในอากาศ แพร่กระจายได้ง่ายด้วยลมหรือติดไปกับขาและปีกของแมลง   ดอกที่เป็นโรคและร่วงหล่นบนพื้นดินหรือเครื่องปลูก หากไม่เก็บรวบรวมออกไปฝังทำลาย จะกลายเป็นแหล่งสำคัญของเชื้อราในฤดูถัดไป

  1. ระวังการเกิดโรคโดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

  2. เครื่องปลูกที่เป็นกาบมะพร้าวที่วางแบบเรือใบ มีโอกาสพบโรคได้ง่าย

  3. เก็บรวบรวมทำลายดอกที่เป็นโรคโดยการฝังดิน

  4. การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดทั่วๆ ไป 10-15 วัน/ครั้ง สามารถป้องกันโรคนี้ได้ แต่ถ้าระบาดมากควรใช้สารแมนโคเซบผสมกับสารคาร์เบนดาซิม ฉีดพ่นทุก 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

เอกสารประกอบการเรียบเรียง
กุลฉวี กำจายภัย. 2526. โรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้. หจก. ฟันนี่พับบลิชชิ่ง. 114 หน้า.
ธีระ สูตะบุตร. 2517. โรคของกล้วยไม้. วิทยาสารกล้วยไม้บางเขน. 375 หน้า.
พิสมัย ชวลิตวงษ์พร. 2538 . แมลงศัตรูไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทย.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2524. โรคและศัตรูไม้ประดับ. บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด. 163 หน้า.
อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์. 2526. โรคของไม้ดอกไม้ประดับ. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 126 หน้า.
อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์. 2540. โรคของกล้วยไม้.  ใน  สมศักดิ์ รักไพบูลย์สมบัติ. ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จากประสบการณ์. สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. 414 หน้า.

สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw