โรคหรืออาการผิดปกติของกล้วยไม้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกกล้วยไม้ทุกสกุล เกิดจากเชื้อไวรัส “ซีวายเอ็มเอ็มวี” (Cymbidium mosaic virus : CyMV) และไวรัส “ทีเอ็มวี-โอ” (Tobacco mosaic virus - orchid strain : TMV-O) หรือปัจจุบันเรียกว่า ไวรัส “โออาร์เอสวี” (Odontoglossum ringspot virus : ORSV) ลักษณะอาการที่ปรากฏแตกต่างตามชนิดของเชื้อไวรัสและชนิดของกล้วยไม้ โดยมีลักษณะที่สังเกตได้ เช่น ใบด่างสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม ยอดบิด ยอดจะม้วนงอ ช่วงข้อจะถี่สั้น การเจริญเติบโตลดลงแคระแกรน ช่อดอกสั้น แข็งกระด้าง ขนาดดอกเล็ก ถ้าเป็นมากกลีบดอกจะมีสีซีด บริเวณส่วนดอกด่าง และดอกมีขนาดเล็ก
โรคที่เกิดจากการทำลายของเชื้อไวรัส CyMV (Cymbidium mosaic virus ) เรียกว่า โรคใบด่างของหวายมาดาม หรือ โรคยอดบิดของหวายมาดาม ใบของกล้วยไม้มีสีด่างเขียวเข้มสลับเขียวอ่อนเป็นหย่อมๆ ใบยอดมักมีขนาดเล็กลง และมักบิดเบี้ยว อาการยอดบิดเบี้ยวอย่างรุนแรง ช่อดอกและดอกมีขนาดเล็กลงและอาจมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ
โรคที่เกิดจากการทำลายของเชื้อไวรัส ORSV (Odontoglossum ringspot virus) ทำให้ดอกของกล้วยไม้แคทลียามีอาการด่าง (อาการด่างของดอกล้วยไม้อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ได้เช่นกัน) กลีบดอกมีอาการด่างแบบสีแตกหรือสีไม่สม่ำเสมอ เป็นอาการผิดปกติอีกชนิดหนึ่งที่พบบนกล้วยไม้สกุลหวาย และสกุลออนซิเดียม (นางระบำ) แผลเกิดบนใบโดยเป็นแผลเซลล์ตาย และเป็นจุดดำขนาดปานกลางและมีลักษณะยุบตัวหรือจมลงไปในเนื้อใบ
-
ขยายพันธุ์กล้วยไม้จากต้นที่แข็งแรงและไม่เป็นโรค ในปัจจุบันการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทำให้ได้กล้วยไม้ที่สมบูรณ์ แข็งแรงและปลอดไวรัสจึงช่วยลดปัญหานี้ได้
-
หมั่นตรวจกล้วยไม้ หากพบต้นที่อาการผิดปกติหรือเป็นโรค ควรแยกต้นออกจากต้นปกติ
-
ระมัดระวังการระบาดของโรค/เชื้อไวรัส โดยติดทางคมมีด กรรไกร และเล็บที่ผ่านการทำงานจากต้นเป็นโรค ดังนั้น ต้องทำความสะอาดเครื่องมือให้สะอาด
-
การทำความสะอาดเครื่องมือ (กรรไกร มีด) ก่อนและหลังการใช้งานด้วยแอลกอฮอล์ น้ำสบู่จะสามารถช่วยลดการติดเชื้อไวรัสกล้วยไม้ได้
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
กุลฉวี กำจายภัย. 2526. โรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้. หจก. ฟันนี่พับบลิชชิ่ง. 114 หน้า.
ธีระ สูตะบุตร. 2517. โรคของกล้วยไม้. วิทยาสารกล้วยไม้บางเขน. 375 หน้า.
พิสมัย ชวลิตวงษ์พร. 2538 . แมลงศัตรูไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทย.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2524. โรคและศัตรูไม้ประดับ. บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด. 163 หน้า.
อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์. 2526. โรคของไม้ดอกไม้ประดับ. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 126 หน้า.
อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์. 2540. โรคของกล้วยไม้. ใน สมศักดิ์ รักไพบูลย์สมบัติ. ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จากประสบการณ์. สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. 414 หน้า.
สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่
![]() |
goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus |
![]() |
www.facebook.com/sotus.int/ |
![]() |
https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw |