โรคเน่าดำ หรือ โรคเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอร่าในกล้วยไม้  โรคนี้เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอร่า  (Phytophthora palmivora)  สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน เข้าทำลายรากทำให้รากมีแผลเน่า และต่อมาเกิดอาการแห้ง มีผลทำให้ใบเหลืองและร่วง ถ้าเชื้อราทำลายที่ยอดของต้นกล้วยไม้ ยอดจะเน่าเป็นสีน้ำตาล บางครั้งจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคยอดเน่า หากเป็นเป็นโรครุนแรง เชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้นและทำลายเนื้อเยื่อภายในลำต้นกล้วยไม้ ซึ่งเมื่อผ่าดูจะเห็นในลำต้นมีแผลสีดำเป็นแนวยาวและเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายเสื่อมสลาย จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคเน่าเข้าไส้  ส่วนดอก บริเวณปากดอกและก้านดอกกล้วยไม้ที่ถูกเชื้อราทำลาย จะเป็นแผลเน่า เหี่ยวสีน้ำตาล ถ้าเป็นรุนแรงมากดอกจะหลุดร่วงจากช่อ โรคนี้มักแพร่ระบาดมากในฤดูฝนหรือในสภาพอากาศมีความชื้นสูง

            เชื้อราสาเหตุของโรค จัดเป็นราที่มีชีพจักรส่วนหนึ่งและมีการสร้างสปอร์อยู่ในน้ำ อาศัยได้ทั้งในน้ำและในดิน  สร้างสปอร์จำนวนมากภายในโครงสร้างที่เรียกว่า sporangium  ชอบสภาพน้ำ หรือเครื่องปลูกที่เป็นกรดหรือที่ pH ต่ำ  สามารถทำให้เป็นโรคกับหน้าวัว ทุเรียน และพืชตระกูลปาล์ม

  • แผลเน่าสีดำเกิดได้กับทุกส่วนบนลำต้นลูกกล้วยไม้ และสามารถลุกลามไปยังต้นแม่หรือใบอื่นๆ ได้

  • อาการเน่าเกิดการลุกลามและทำให้ต้นกล้วยไม้ตาย โดยเฉพาะต้นหรือลำที่อ่อน

  • เมื่อกล้วยไม้เริ่มแสดงอาการ ต้นกล้วยไม้อาจตายได้ในระยะเวลาที่เร็ว

  • แผลเน่ามีสีน้ำตาลเข้ม หากเกิดกับส่วนยอดอาจลุกลามไปทำลายภายในลำต้นทำให้ต้นกล้วยไม้เกิดอาการเหี่ยวคล้ายขาดน้ำ และทำให้ต้นกล้วยไม้ตายในระยะเวลาสั้น

  • เชื้อราสาเหตุสามารถทำลายรากและส่วนของราก  ทำให้หยุดการเจริญเติบโตและรากเน่า

  • ควรจัดการสภาพโรงเรือนให้มีการระบายน้ำ (ความชื้น) และอากาศที่ดี

  • ไม่ควรปลูกกล้วยไม้แน่นเกินไป

  • ตรวจดูการเกิดโรคโดยเฉพาะในฤดูฝน เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้แยกออกไปเผาทำลายทิ้ง

  • เพื่อการป้องกันโรค ควรฉีดพ่นสารฟอสฟอรัสแอซิค (ฉีดเดี่ยวๆ) อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน 1 ครั้ง และปลายฤดูฝน 1 ครั้ง

  • หากพบระบาด ควรฉีดพ่นสารฟอสฟอรัสแอซิค 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

  • ถ้าเกิดโรคกับกล้วยไม้ที่ต้นโต ให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกแล้วใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช  ได้แก่ เมทาแลคซิล (เช่น ริโดมิล) สลับกับแมนโคเซบ (เช่น ไดเทน เอ็นที เอ็ม-45) ทาหรือป้ายที่รอยแผล

 

 

 

 

 

 

สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw