ไรสนิมส้ม เป็นไรสี่ขาชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocoptruta oleivora (Ashmead) อยู่ในวงศ์ Eriophyidae มีขาเพียง 2 คู่ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ทำให้ผิวของผลส้มเปลี่ยนเป็นสีเงิน
ไรชนิดนี้ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวเรียวยาวคล้ายหนอน ตัวเต็มวัยเมื่อลอกคราบออกมาใหม่ๆ จะมีสีเหลืองอ่อน และสีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองปนน้ำตาล มีขา 2 คู่อยู่ทางด้านหน้าของลำตัว ลำตัวยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ไรสนิมส้มมีวงจรชีวิตจากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานาน 7-8 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียมีชีวิตอยู่ได้นาน 11-12 วัน และวางไข่ได้ประมาณ 5-6 ฟอง ต่อเพศเมีย 1 ตัว
ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ผล และกิ่งก้านของต้นส้ม ไรสนิมส้มสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทำให้ใบร่วง ส่วนผลส้มที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ สีของผลจะเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีน้ำตาลคล้ายสนิม ทำให้ผลส้มสกปรกไม่สวยงาม จึงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หากไรสนิมส้มระบาดรุนแรงอาจทำให้ต้นส้มหยุดชะงักการเจริญเติบโตได้
พบไรสนิมส้มระบาดในทุกบริเวณที่มีการปลูกส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มฟรีมองต์ ส้มโชกุน ส้มตรา ส้มจี๊ด และมะนาว และพบระบาดปริมาณสูงในฤดูฝนและฤดูหนาว ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ส่วนในฤดูร้อนปริมาณไรจะลดลง
-
หมั่นสำรวจแปลงส้มอยู่เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ ในฤดูฝนและฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม และตลอดทั้งปีในสวนที่อากาศมีความชุ่มชื้นสูง
-
เมื่อพบไรสนิมส้มระบาดมาก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายโดยเฉพาะที่ผลของส้มจะปรากฏเป็นจุดสีขาวเล็กๆ มองดูคล้ายฝุ่น เมื่อใช้แว่นขยายขนาด 10 เท่าส่องดูจะพบตัวไรสนิมส้มเต็มไปหมด ให้ทำการพ่นด้วยสารกำจัดไรคือ ซัลเฟอร์ 80% WP (ไมโครไธออล กำมะถันเนื้อทอง) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัด เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้ หรือโพรพาไกต์ 30% WP (โอไม้ท์ 30) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สารกำจัดไรทั้ง 2 ชนิดนี้ค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวห้ำ ตัวเบียน และผู้ใช้ แต่เกษตรกรควรมีการสลับกลุ่มของสารกำจัดไร เช่น ไพริดาเบน 20% WP (ไพดาเบ็น) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราซ 20% EC (อะมิทราซ) อัตรา 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาความต้านทานของไรสนิมส้มต่อสารกำจัดไร ทั้งนี้หากภายหลังการพ่นสารแล้วยังพบว่ามีไรสนิมส้มระบาดอยู่ ให้ทำการพ่นสารกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่งที่กล่าวมาแล้วซ้ำอีกครั้งโดยเว้นระยะห่าง 5 วัน
ขอขอบคุณ
รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ
สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่
|
goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus |
|
www.facebook.com/sotus.int/ |
|
https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw |