โรคสำคัญที่พบว่าระบาดทำลายและทำให้เกิดความเสียหายกับพืชตระกูลส้ม ไม่ว่าจะเป็นส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเช้ง มะนาว ซึ่งได้แก่ โรคแคงเกอร์ โรคใบเปื้อนน้ำหมากหรือโรคเมลาโนส และ โรครากเน่าและโคนเน่า (มีรายละเอียด ใน โรคสำคัญของส้ม ตอนที่ 1) ยังคงมีโรคสำคัญที่พบระบาดทำลายพืชตระกูลส้มและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ โรคสแค็บ โรคผลร่วงหรือโรคขั้วผลเน่า และโรคราสีชมพู (มีรายละเอียด ใน โรคสำคัญของส้ม ตอนที่ 2) นอกจากโรคที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว โรคที่พบการทำลายพืชตระกูลส้มในเกือบทุกพื้นที่ปลูก และสามารถทำให้ต้นส้มทรุดโทรม ยอดและกิ่งแห้งจากส่วนปลายลงมา และตายในที่สุด คือ โรคทริสเตซา และ โรคฮวงลองบิงหรือโรคกรีนนิ่ง ซึ่งจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจในบทความ โรคสำคัญของส้ม ตอนที่ 3 ดังนี้
1.โรคทริสเตซา โรคนี้บางครั้งเรียกว่า โรคต้นโทรมใบเหลือง เป็นโรคเกิดจากการทำลายของเชื้อไวรัส ที่มีชื่อเรียกว่า Citrus tristeza virus หรือ CTV มีรูปร่างเป็นท่อนยาวคด ยาวประมาณ 2 ,000 นาโนเมตร (nm) และกว้างประมาณ 15 นาโนเมตร เชื้อไวรัสเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในท่ออาหารของพืช และรบกวนระบบส่งน้ำและอาหารของพืช
โรคนี้เข้าทำลายส้มได้ทุกชนิดและทุกสายพันธุ์ ทั้ง ส้มโอ ส้มเปลือกล่อน (ส้มเขียวหวานและส้มสายน้ำผึ้ง) ส้มเกลี้ยง มะนาวและมะกรูด ต้นส้มที่เป็นโรคนี้จะมีใบอ่อนที่มีสีเขียวซีดหรือด่าง ใบจะมีอาการด่างเขียวเหลืองเป็นจ้ำๆ คล้ายขาดธาตุอาหาร ใบบิดเบี้ยว ในใบอ่อนเส้นใบอาจใสกว่าปกติ เส้นใบมีอาการโปร่งแสงเป็นขีดสั้นๆ (vein clearing) และมักพบว่าบนใบแก่ของส้มโอ เส้นใบจะนูนหรือแตกเป็นเซลล์แข็ง ๆ (corky vein) ใบส้มจะมีขนาดเล็กลง อาจบิดเบี้ยวผิดปกติ มีการติดผลมากแต่ผลมักหลุดร่วงง่าย ผลมีขนาดเล็ก บริเวณลำต้นหรือกิ่งใหญ่ๆ มีลักษณะไม่เรียบ คล้ายบิดเป็นคลื่นหรือเป็นร่องยาวขนานกับลำต้นหรือกิ่ง และเมื่อเปิดเปลือกออกตรงบริเวณที่เป็นร่อง จะพบว่าเนื้อไม้เป็นร่องเว้าบุ๋มลึกลงไป (stem pitting and stem combing) ต้นส้มที่เป็นโรคจะมีอาการใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กและร่วง ต้นทรุดโทรม และถ้าเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงมากๆ ต้นส้มมักยืนต้นตายในที่สุด โรคทริสเตซานี้เกิดระบาดกับมะนาวได้รุนแรงมากกว่าส้มสายพันธุ์อื่นๆ โดยมีอาการที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ใบด่างจ้ำ (leaf mottling) ใบบิดโค้งงอเป็นรูปถ้วย (leaf cupping)