ช่วงฤดูหนาวหรือฤดูแล้งของประเทศไทยผ่านไปแล้ว และสภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง  ในช่วงที่ผ่านมาท้องฟ้าทั่วไปมีฝุ่นปกคลุมคล้ายหมอกควัน มีแสงแดดน้อยมากในเวลากลางวันแต่กลางคืนก็สว่างช้า  สภาพเช่นที่กล่าวนี้ มีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกติดผลของพืชเกือบทุกชนิด  ทำให้การสังเคราะห์แสงและการปรุงอาหารไม่สมบูรณ์เท่ากับความต้องการของพืช  ต้นพืชอาจแสดงอาการใบซีดเหลืองเนื่องจากการขาดธาตุอาหาร  ยกเว้นในกรณีที่เกษตรกรมีการดูแลค่อนข้างดี ให้ธาตุอาหารและมีการให้น้ำอย่างเหมาะสม

           โดยทั่วไปแล้วในฤดูหนาวที่ผ่านมาสภาพภูมิอากาศจะไม่เหมาะสมหรือไม่ส่งเสริมศัตรูพืชให้เกิดและระบาดทำลายพืช หรือหากเกิดก็มักไม่รุนแรงหรือเป็นปัญหากับผลผลิตพืชมากนัก  แต่ต่อจากนี้เป็นต้นไปสภาพอากาศที่เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น ในบางพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น  หากแต่ความชื้นในอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ยังคงค่อนข้างต่ำ  และในบางพื้นที่อาจมีฝนตกกระจาย ก็จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดและระบาดของชนิดศัตรูพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากที่พบในฤดูหนาว  เกษตรกรจึงควรสำรวจและตรวจพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ   เฝ้าระวังและติดตามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ศึกษารายละเอียดของโรคพืชและศัตรูหลายชนิดที่จะเข้าทำลายพืชและผลผลิตพืช วิธีการในการป้องกัน ควบคุมและการจัดการอย่างถูกต้อง  เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

 

1.โรครากเน่าและโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอร่า ซึ่งจะพบระบาดทำลายพืชตระกูลส้ม ทุเรียน มันฝรั่ง ปาล์มน้ำมัน

2.โรคราเม็ดผักกาด มักพบระบาดในไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักหลายชนิด เช่น มะเขือเทศ

3.โรคใบจุด โรคใบไหม้ ที่เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น โรคใบจุดและโรคใบไหม้มังคุด โรคใบติดทุเรียน

4.โรคยางไหล ที่เกิดจากเชื้อราดิพโพเดียและโบไทรโอดิพโพเดีย เช่น โรคยางไหลส้ม โรคยางไหลมะม่วง

5.โรคราดำ เกิดจากเชื้อราซูททีโมลด์ ที่มักพบเกิดระบาดกับมะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ ลองกอง มะยงชิด

1.เพลี้ยไฟ มักพบการเข้าทำลายกับไม้ผลทุกชนิด พืชตระกูลส้ม มะม่วง ทุเรียน ในพืชผัก ได้แก่ พริก มะเขือ มะเขือเทศ และไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กล้วยไม้ กุหลาบ

2.หนอนเจาะดอกและหนอนเจาะผลอ่อน ส่วนใหญ่มักเป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน มักพบการเข้าทำลายส้มโอ ส้มสายน้ำผึ้ง ชมพู่

3.หนอนเจาะยอดและลำต้น มักพบการระบาดทำลาย เช่น หนอนหัวดำมะพร้าว หนอนเจาะยอดและเจาะลำต้นไม้ผล(หลายชนิด)

1.ไรแดง ไรเหลือง ไรสนิม ที่ระบาดทำลายใบและผลส้มสายน้ำผึ้ง

2.ไรขาว ที่ระบาดทำลายใบและผลส้มโอ

3.ไรแดง ที่ระบาดทำลายทุเรียน มังคุด

นอกจากนี้ อาจพบการระบาดทำลายของเพลี้ยอ่อน เพลี้ยเกล็ด เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย ในพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลได้เกือบทุกชนิด

การป้องกันควบคุมและการจัดการศัตรูพืชให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดกับต้นพืชและผลผลิตนั้น เกษตรกรควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. มีการวิเคราะห์ดินปลูก จัดเตรียมพื้นที่ปลูกอย่างเหมาะสม และมีการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินปลูก

  2. การเลือกชนิดของพืชและมีการศึกษารายละเอียดอย่างดีเกี่ยวกับศัตรูพืชและการบริหารจัดการ

  3. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์หรือต้นพันธุ์ที่ดีและแข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรู

  4. มีการวางแผนในการปลูกและการดูแลปฏิบัติ การให้ธาตุอาหารและการจัดการน้ำชลประทาน อย่างถูกต้องตามความต้องการและความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด

  5. การสำรวจ ตรวจดูแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากการดูแลปฏิบัติงานที่อาจไม่เหมาะสม หรือ ความผิดปกติที่อาจเกิดจากศัตรูพืช

  6. การกำจัดหรือการควบคุมหรือการทำลายศัตรูพืช ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่พบการเกิดและการระบาดทำลาย โดยการใช้การตัดสินใจที่ดีและถูกต้องตามมาตรการสากล

  7. หากต้องเลือกวิธีการใช้สารเคมี ควรเลือกชนิดที่ถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของศัตรูพืช ใช้วิธีการตามคำแนะนำโดยนักวิชาการ และเลือกสารเคมีที่มีมาตรฐานและขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 


สนใจข้อมูล หรือ ความรู้เพิ่มเติมด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

Line@ ID: goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

Facebook : https://www.facebook.com/sotus.int/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw