การผลิตชมพู่ยักษ์ไต้หวันให้มีคุณภาพดีและรสชาติหวานกรอบ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต 15 วัน ควรจะใส่ปุ๋ยทางดินที่เพิ่มความหวานมีสูตรตัวท้ายสูงๆ เช่น 13-13-21 ,14-14-21 อัตรา 500 กรัมต่อต้น (ต้นชมพู่อายุ 2-3 ปี) แต่ถ้าต้นชมพู่ยักษ์ไต้หวันมีอายุ 5 ปีขึ้นไป  ให้ใส่ต้นละ 1 กิโลกรัม ด้วยชมพู่จัดเป็นไม้ผลที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นคือหลังจากดอกโรยและถอดหมวกมีขนาดผลเท่าหัวนิ้วโป้งจะใช้เวลาเลี้ยงผลเพียง 25-30 วัน จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ดังนั้นในช่วงเลี้ยงผลก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 15 วัน ควรจะฉีดพ่น นูแทค ซุปเปอร์-เค ซึ่ง นูแทค ซุปเปอร์-เค จัดเป็นปุ๋ยพ่นทางใบแบบสเปรย์-ดรายด์ ที่มีโพแทสเซียมสูง และช่วยเพิ่มความหวานให้แก่ชมพู่  และอีกเทคนิคในการเพิ่มรสหวานในผลชมพู่ให้มีรสชาติหวานนั้น  จะต้องมีการงดน้ำแก่ต้นชมพู่ร่วมกับการให้ปุ๋ยตัวท้ายสูง ก่อนการเก็บเกี่ยว 3-5 วัน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินด้วย ถ้าเป็นดินเหนียวควรงดการให้น้ำให้นานกว่านี้ อาจเป็น 5-7 วัน แต่ที่สวนคุณลีเป็นดินร่วนปนทราย จะหยุดให้น้ำก่อนเก็บ 3 วันเท่านั้น เพราะแปลงปลูกชมพู่ไม่ได้ยกร่อง หรือ มีน้ำขัง ต้นจึงไม่ได้แช่อยู่ในน้ำ แม้ชมพู่จะเป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำมากแต่ช่วงก่อนเก็บผลผลิตเราควรงดน้ำก็จะทำให้ชมพู่มีรสหวาน เพราะการที่ชมพู่ได้น้ำอยู่ตลอดเวลาจะทำให้ผลชมพู่ใหญ่ขึ้นก็จริง แต่ก็จะทำให้ความหวานลดลงไปด้วยเช่นกัน

            การผลิตชมพู่นอกฤดู  ชมพู่จะออกดอกเป็น 2 รุ่นใหญ่ๆ คือ ช่วงประมาณปลายเดือนธันวาคม - มกราคม เก็บผลในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม  และจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์และเก็บผลในเดือนเมษายน – พฤษภาคม  ซึ่งถือว่าเป็นชมพู่ที่ออกตามฤดูกาล โดยเฉพาะชมพู่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่ชมพู่มีราคาถูกที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ผลไม้ในตลาดมีมาก เช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น ชาวสวนจึงต้องพยายามบังคับให้ชมพู่ออกดอกและมีผลผลิตช่วงนอกฤดูกาล เช่น บังคับให้ออกดอกมากในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป และไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม  ซึ่งในช่วง 3 เดือนนี้ชมพู่จะมีราคาสูง

            โรคชมพู่ สำหรับโรคที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชมพู่  ได้แก่  โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยจะพบการทำลายบนผลชมพู่ที่ห่อไว้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ต้นและใบไม่ค่อยพบร่องรอยการทำลาย ลักษณะที่ปรากฏบนผลจะมีการเน่าสีดำ แผลจะยุบตัวเล็กน้อย มีวงสปอร์สีดำเป็นวงๆ ซ้อนกันบางครั้ง อาจพบเมือกสีแสดด้วยการป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นผลก่อนห่อด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิล  แคปแทน   คอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์  ไตรฟรอกซี่สโตรบิน  โพรคลอราช  โพรพิเนบ เป็นต้น

            แมลงศัตรูชมพู่  ที่พบบ่อย เช่น แมลงค่อมทอง เป็นด้วงงวงชนิดงวงสั้น ลำตัวสีเขียวเหลืองทองรูปไข่ ขนาดลำตัวกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 1.30 - 1.50 เซนติเมตร มักพบอยู่เป็นคู่ๆ  การทำลาย ตัวแก่ชอบกัดกินใบอ่อนยอดอ่อน ทำให้เว้าแหว่ง การป้องกันกำจัด โดยเขย่าต้น เก็บตัวแก่ทำลาย กรณีระบาดอย่างรุนแรง พ่นสารเคมีคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัม / น้ำ 20 ลิตร หรือยากลุ่มไซเพอร์เมทริน  ด้วงม้วนใบ เป็นด้วงงวงชนิดส่วนคอยาว ขนาดเล็กลำตัวสีน้ำตาล มีจุดสีเหลืองบนปีกทั้ง 2 ข้าง ส่วนงวงยาวเกือบเท่าลำตัว การทำลาย ตัวเมียจะกัดใบเป็นรูเล็กๆ แล้ววางไข่ 2 - 3 ฟองในใบม้วน ตัวอ่อนเจริญกัดกินในใบ และเข้าเป็นดักแด้ในใบม้วน  การป้องกันกำจัด  เก็บใบม้วนเผาทำลาย กรณีระบาดรุนแรง ควรพ่นด้วยสารเคมีคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัม / น้ำ 20 ลิตร หรือยากลุ่มไซเพอร์เมทริน  เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายเข็ม ตัวแก่มีปีก การเข้าทำลาย มักจะเข้าทำลายยอดอ่อน ใบอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบแห้งตาย หรือหงิก บิดเบี้ยว แคระแกร็น การป้องกันกำจัด โดยการใช้สารอิมิดาคลอพริด  ฟิโปรนิล  คาร์โบซัลแฟน  ไซเพอร์เมทริน  อะบาเมกติน  ฉีดสลับกันเป็นต้น

แมลงวันทอง  เป็นแมลงวันที่ทำลายผลไม้ชนิดหนึ่ง ลำตัวมีสีดำปนเหลือง การทำลาย ตัวเมียจะวางไข่ไว้ที่ผลแก่ และตัวหนอนเข้ากัดกินเนื้อในผล ทำให้ผลเน่าและร่วงหล่นในที่สุด การป้องกันกำจัด ห่อผลด้วยถุงพลาสติก หรือใช้เมธิลยูจินอลล่อแมลงวันตัวผู้ หรือใช้เหยื่อพิษ โปรตีนไฮโดรไลเสท และหนอนชนิดต่างๆ  ฉีดพ่นด้วยสารอะบาเมกติน  ไซเพอร์เมทริน  เมทโทมิล  เป็นต้น  โดยพยายามเปลี่ยนหรือฉีดสลับสารป้องกันกำจัดแมลงไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการดื้อยา

             “การตอนกิ่งชมพู่” เลือกกิ่งที่มีสีเขียวอมน้ำตาล หรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ใช้มีดควั่นรอบกิ่ง
2 รอย โดยให้รอยควั่นทั้ง 2 รอย อยู่ห่างกันประมาณ 2-3 ซม. ใช้มีดกรีดเปลือกระหว่างรอยควั่น
ทั้ง 2 รอย ใช้มีดลอกเปลือกชมพู่ออก ขูดเนื้อเยื่อเจริญออกให้หมด นำขุยมะพร้าวที่แช่น้ำมาอัดถุงพลาสติกแล้วผ่าครึ่ง นำถุงขุยมะพร้าวมาหุ้มรอบแผล ใช้เชือกปอฟางมัดหัวและท้ายถุงขุยมะพร้าว มัดเสร็จทิ้งไว้ประมาณ 30-45 วัน กิ่งตอนชมพู่จะเริ่มออกราก เมื่อรากแก่เป็นสีน้ำตาลแล้วจึงตัดไปชำต่อได้ กิ่งตอนชมพู่ที่ชำอนุบาลไว้ 1 เดือน พร้อมปลูกลงดินต่อไป

            “การปักชำกิ่งชมพู่” เลือกยอดหรือกิ่งชมพู่ที่มีสีเขียว ที่มีใบประมาณ 3 คู่ แล้วปลิดใบคู่ล่างออก และตัดใบออกครึ่งใบ ก่อนนำมาปักชำให้นำกิ่งชมพู่แช่ในน้ำยาเร่งรากประมาณ 5 นาที แล้ววางผึ่งลมให้แห้ง แล้วปักชำในถุงดำ นำถุงปักชำเรียงในถุงร้อนใบใหญ่เพื่อทำการอบ นำถุงกิ่งชำไปอนุบาล โดยการแขวนใต้ร่มแสลนดำ ทำการอบในถุงร้อนราว 45 วัน กิ่งชำจะเริ่มออกราก แตกใบอ่อน นำกิ่งปักชำออกจากถุงอบ (ในช่วงเวลาเย็น) ที่กำลังแตกใบอ่อน อนุบาลใต้ร่มแสลนอีก 1 เดือน ก็พร้อมย้ายปลูก

            “การเปลี่ยนยอดชมพู่บนต้นใหญ่” เลือกเปลือกต้นบริเวณที่ต้องการเปลี่ยนยอด กรีดเปลือกต้นเป็น 2 รอย ขนานกัน ความยาว 3-4 เซนติเมตร กรีดด้านบนเพื่อลอกเปลือกออก ใช้มีดช่วยลอกเปลือกตัดเปลือกส่วนบนออกตามรูป หลังตัดเปลือกส่วนบนออกเพื่อเป็นช่องเสียบยอดชมพู่พันธุ์ใหม่ เลือกยอดพันธุ์ชมพู่ที่มีความสมบูรณ์ ริดใบออก เลือกยอดที่มีตาโผล่ออกมา ปาดยอดพันธุ์เป็นรูปปากฉลามทั้ง 2 ด้าน แผลด้านที่หนึ่งจะยาว ซึ่งแผลส่วนนี้จะถูกแนบกับลำต้น แผลด้านที่สองจะสั้นกว่า ซึ่งแผลด้านนี้จะถูกแนบกับผิวเปลือก นำยอดพันธุ์มาเสียบลงไปแล้วพันพลาสติก จากด้านล่างขึ้นด้านบน พันพลาสติกจนมิดยอด เพื่อไม่ให้น้ำเข้า ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เมื่อสังเกตเห็นว่ายอดพันธุ์ดีแตกยอดออกมาต้องกรีดพลาสติกให้ยอดใหม่แทงออกมา เมื่อยอดพันธุ์ดีแตกยอดออกมามากพอสมควรจึงตัดยอดต้นชมพู่พันธุ์เดิมทิ้งไป

สนใจต้นพันธุ์หรือผลผลิต “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน”และ“ชมพู่สตรอเบอร์รี่”ของแท้ ติดต่อได้ที่ “สวนคุณลี” อ.เมือง จ.พิจิตร

Tel. 081-9013760, 081-8867398

Facebook : สวนคุณลี

ID Line : LEEFARM2


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw