โรครากเน่าและโคนเน่าเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora palmivora) เป็นเชื้อราน้ำ และสามารถอาศัยอยู่ในดินได้ มักพบโรคนี้ระบาดรุนแรงในช่วงปลายฤดูฝน เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือมีน้ำและความชื้นเพียงพอ เชื้อราสาเหตุของโรคจะเคลื่อนที่ไปกับน้ำ เข้าทำลายรากและโคนต้น เชื้อราจะแพร่กระจายไปทั่วต้น นอกจากนี้ เชื้อราสาเหตุของโรคที่ติดอยู่กับดิน อาจถูกพัดพาโดยลมไปยังที่ห่างไกลได้ จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง และโรคนี้สามารถติดไปกับกิ่งพันธุ์ได้

  • เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถเข้าทำลายต้นส้มได้ตลอดทั้งปี โดยจะพบการระบาดของโรคมากในฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม

  • โรคนี้ระบาดรุนแรงมากในแปลงปลูกส้มที่มีสภาพดินปลูกเป็นดินเปรี้ยว และดินเหนียว ทั้งในสภาพแปลงปลูกแบบสภาพไร่ และร่องปลูกสภาพสวนที่มีสภาพน้ำขัง

  • สภาพต้นส้มที่ไม่สมบูรณ์ แข็งแรง ขาดการดูแล หรือมีผลส้มบนต้นมากเกินไป มักอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรค

  • ที่บริเวณโคนต้นที่มีน้ำขัง และทรงพุ่มรกทึบ ทำให้บริเวณโคนต้นมีความชื้นสูง และแดดส่องไม่ทั่วถึง จะส่งเสริมให้เกิดโรคโคนเน่าได้ง่าย

          เชื้อสาเหตุของโรคจะเริ่มเข้าทำลายต้นส้มตั้งแต่ช่วงต้นฝน เชื้อราจะเข้าไปเจริญเติบโตในเนื้อเยื่อต้นพืช ทำให้เกิดแผลเน่าภายใต้เปลือก แผลอาจมีขนาดใหญ่ โดยสามารถสังเกตเห็นผิวเปลือกของลำต้น หรือกิ่งมีคราบคล้ายเปียกน้ำหรือมีคราบน้ำเกาะติด ทำให้มองเห็นคราบน้ำบริเวณเปลือกของลำต้น ต่อมาจะพบว่าที่ผิวเปลือกจะแตกเป็นแผลขนาดเล็กๆ คล้ายร่อง ทำให้มีน้ำยางสีน้ำตาลแดงไหลออกจากแผลโดยเฉพาะในช่วงเช้าที่อากาศชื้น  น้ำยางจะแห้งในช่วงที่มีแดดจัด

          เมื่อใช้มีดหรือเครื่องมือคมๆ เช่น สิ่ว เปิดเปลือกของลำต้นที่มีคราบยางออก จะเห็นแผลของเนื้อเยื่อต้นพืชที่ถูกทำลายมีสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลส้ม แผลจะขยายไปตามความกว้างและความสูงของลำต้น ขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เชื้อโรคเข้าทำลาย หากเชื้อโรคเข้าทำลายเป็นระยะเวลานาน แผลจะมีสีเข้มจนเกือบดำ โดยบริเวณกลางแผลมักมีสีเข้มกว่าบริเวณขอบแผล

  1. ใช้ต้นตอพันธุ์ส้มที่มีความต้านทานต่อโรค และการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุของโรค

  2. ปรับความเปรี้ยวของดิน หรือดินที่มีค่าพีเอช (pH) ต่ำ โดยใช้ปูนขาว ปูนมาร์ล หรือ โดโลไมท์ ปีละ 1-2 ครั้ง และปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการใช้อินทรีย์วัตถุ หรือสารปรับปรุงคุณภาพดินสูตรเข้มข้น (ลีโอเทค/ฮิวเมท-เทรซ)

  3. บริเวณแปลงปลูกที่มีพื้นที่ต่ำควรทำร่องระบายน้ำ หรือ พูนโคนต้น เพื่อไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม เพื่อให้อากาศและแสงแดดผ่านได้สะดวก กำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นและเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย

  4. ตัดแต่งกิ่งแขนงที่เป็นโรค เก็บรวบรวมใบ ดอก และผลที่เป็นโรค และร่วงหล่นอยู่ในบริเวณสวนไปเผาทำลาย

  5. ควรสำรวจแปลงอยู่เสมอ หากพบอาการของโรคเพียงเล็กน้อยที่ลำต้นหรือกิ่งแขนงใหญ่ ให้ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก และนำไปเผาทำลาย แล้วทาแผลด้วยปูนแดง หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น สารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (ฟังกูราน-โอเอช) หรือแมนโคเซบ (ไดเทน เอ็นที เอ็ม-45) หรือแมนโคเซบ+วาลิฟีนาเลท 60%+6% WG (เอสโตเคด) อัตรา  200 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ทาบริเวณแผล

          ห้ามนำ ทุกส่วนของต้นส้ม และผลที่เป็นโรคไปฝัง หรือทิ้งลงในแม่น้ำ ลำคลอง เพราะจะทำให้เชื้อราไฟทอปธอร่าแพร่กระจายออกไปในพื้นที่กว้างขวาง ควรนำมาเผาทำลายให้หมด

ขอขอบคุณ

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw