ผู้เขียนเคยกล่าวว่า ไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์ เป็นที่ยอมรับกันให้ใช้กับเกษตรอินทรีย์ได้ เนื่องจากอันตรายน้อยโดยเฉพาะการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในระดับการบริโภค นอกจากนี้แล้วยังมีพิษน้อยต่อศัตรูธรรมชาติและแมลงมีประโยชน์ ในฉบับนี้เลยอยากให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักไวท์ออยล์เพิ่มขึ้น

          กลุ่มไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์ เป็นผลพลอยได้จากการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม มีการใช้กันแพร่หลายมานานหลายศตวรรษ แต่ประสิทธิภาพอาจไม่เทียบเท่าสารเคมีสังเคราะห์ ไวท์ออยล์ (white oil) มีชื่อพ้องหลายชื่อ เช่น ไมเนอรอลออยล์ นิวทรอลออยล์ และพาราฟินออยล์ แต่ที่นำมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องเป็นเกรดที่ใช้กับพืชอาหาร (food grade) ในต่างประเทศให้มีการจำหน่ายไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์ ใช้กำจัดแมลงและไรศัตรูพืช โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร แต่ในประเทศไทยเนื่องจากราชการต้องการคุ้มครองเกษตรกร ให้สามารถตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ผลิตที่กระทำผิด เช่น เปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์ไม่ถูกต้อง หรือมีฉลากไม่ตรงกับที่ขึ้นทะเบียนและขยายฉลากไว้ หรือมีการโฆษณาหรือนำสารไปใช้โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณในการกำจัดศัตรูพืชเกินจากข้อเท็จจริง จึงกำหนดให้ไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ร่วมกลุ่มเดียวกันกับสารสกัดสะเดา เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช (บีที ไวรัสเอ็นพีวี เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราเมทาไรเซียม เชื้อราไตรโคเดอมา) โดยแตกต่างจากสารเคมีสังเคราะห์ที่รับขึ้นทะเบียนจะเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สำหรับไวท์ออยล์ที่ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรในประเทศไทยมี รหัส Chemical Abstract Service (CAS) Registry Number (CAS number) เป็น 8012-95-1 คือสูตร 67%EC นอกนี้จะมีปิโตรเลียมออยล์ 83.9%EC ความแตกต่างขึ้นอยู่กับจำนวนอะตอมของคาร์บอนที่อยู่ในสูตรโมเลกุลหรือสูตรโครงสร้าง โดยปกติจะมีคาร์บอนอยู่ระหว่าง 21 – 25 ซึ่งจะมีผลทำให้ CAS number แตกต่างกัน

ข้อมูลความเป็นพิษ (ข้อมูลของไวท์ออยล์ 67%EC)

  • พิษเฉียบพลันทางปากกับหนู มากกว่า 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว

  • พิษเฉียบพลันทางผิวหนังกับหนู มากกว่า 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว

  • พิษเฉียบพลันทางระบบหายใจกับหนู มากกว่า 1.593 มิลลิกรัม/ลิตร

ข้อมูลความเป็นพิษ (ข้อมูลของปิโตรเลียมออยล์ 83.9% EC)

  • พิษเฉียบพลันทางปากกับหนู มากกว่า 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว

  • พิษเฉียบพลันทางผิวหนังกับหนู มากกว่า 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว

  • พิษเฉียบพลันทางระบบหายใจกับหนู มากกว่า 1 มิลลิกรัม/ลิตร

          จากข้อมูลข้างต้นสรุปว่าสารไวท์ออยล์ 67%EC และ ปิโตรเลียมออยล์ 83.9% EC จัดอยู่ในกลุ่มมีพิษน้อย (slightly hazardous) ตามการจำแนกขององค์การอนามัยโลก แถบสีในฉลากจึงเป็นสีน้ำเงิน

กลไกการออกฤทธิ์และการนำไปใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช

          1.เป็นสารที่ทำลายแมลงทางกายภาพ (Physical poison) กลไกการออกฤทธิ์จะไปขัดขวางหรืออุดรูหายใจ (Suffocation) และดูดความชื้น (Desiccation) ในตัวแมลงทำให้แมลงตาย นอกจากนี้ยังไปชะล้างไขมันที่ผนังลำตัวของแมลงบางชนิด เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรแดง รวมทั้งไปเคลือบไข่ของแมลงทำให้ไข่ไม่ฟัก

          2.มีผลต่อพฤติกรรมการวางไข่ของแมลง การพ่นสารไวท์ออยล์หรือปิโตรเลียมออยล์จะทำให้พืชมีกลิ่นเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผีเสื้อเพศเมียวางไข่น้อยลง เช่น กรณีของแมลงวันทองพริก ลดการวางไข่เนื่องจากผิวของผลพริกเคลือบด้วยไขมัน ทำให้การลดการทำลายของแมลงวันทองในพริกได้

          3.ใช้ในลักษณะของสารเสริมประสิทธิภาพ (Adjuvants) จากการวิจัยพบว่าการใช้สารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (อิมิดาโคลพริด ไทอะมีโทแซม โคลไทอะนิดิน ไดโนทีฟูแรน) ผสมกับไวท์ออยล์ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยแป้งในน้อยหน่า เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง แมลงหวี่ขาวในผักชีฝรั่ง แมลงหวี่ขาวในกะเพรา เพลี้ยไฟในโหระพา โดยสารในกลุ่มน้ำมันจะช่วยเสริมหรือเพิ่มฤทธิ์ของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่งเสริมให้สารเกาะยึดติด หรือกระจายตัว และแทรกซึมผ่านชั้นไขมันของใบพืชโดยเฉพาะการใช้สารที่ออกฤทธิ์ดูดซึม นอกจากนี้มีรายงานว่าสารกลุ่มน้ำมันจะช่วยยืดอายุทำให้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอยู่ได้นานขึ้น เนื่องจากจะช่วยชะลอการระเหยตัว ป้องกันแสงแดด และป้องกันการชะล้างจากฝน อัตราที่ใช้สำหรับผสมสารเคมีอื่น อยู่ที่อัตรา 20 – 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

          4.การใช้เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชโดยตรง สำหรับไวท์ออยล์ และปิโตรเลียมออยล์ มีงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรว่าสามารถใช้ป้องกันกำจัดแมลงจำพวกปากดูดหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ส้ม แมลงปากกัดหลายชนิด เช่น หนอนชอนใบส้ม รวมทั้งไรแดงในส้ม และทุเรียน ฯลฯ

          นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิดได้ เช่น โรคราแป้ง โรคราดำ เป็นต้น สำหรับอัตราการใช้แบบสารเดี่ยวอยู่ที่อัตรา 50 – 150 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ขึ้นกับชนิดพืช และศัตรูพืช จากการวิจัยของผู้เขียนพบว่าแมลงหวี่ขาวในกะเพราและผักชีฝรั่ง สร้างความต้านทานต่อสารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ จนทำให้การพ่นสารไวท์ออยล์เดี่ยวๆ มีประสิทธิภาพดีกว่า หรือช่วงที่ระบาดรุนแรงให้ใช้สารบูโพรเฟซีน 40%SC อัตรา 20 ซีซี หรือบูโพรเฟซีน 25%WP อัตรา 40 กรัม

ข้อควรระวัง

          การใช้สารไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์อาจมีข้อจำกัดบ้าง เช่น ไม่ควรใช้ความเข้มข้นเกิน 1% หรือผสมสารที่มีส่วนผสมของคอปเปอร์ หรือซัลเฟอร์ (กำมะถัน) สารโพรพาไกต์ เนื่องจากอาจเกิดความเป็นพิษต่อพืช (Phytotoxicity) มากกว่านั้นมีข้อมูลว่าไม่ควรใช้ในช่วงสภาพอากาศแบบฟ้าปิด หรือฝนจะตก เนื่องจากจะทำให้น้ำมันระเหยช้า หรือสะสมในพืชทำให้เกิดความเป็นพิษต่อพืชได้