การทำลายของศัตรูพืชที่สำคัญทำให้เกิดความเสียหายต่อการปลูกส้ม และผลผลิตของส้มทุกชนิด ได้แก่ แมลง ไรศัตรูส้ม และโรคพืช ในปีหนึ่งๆทำให้เกิดอาการผิดปกติของต้นส้มและส่วนต่างๆ หรือเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติและอาจทำให้ต้นส้มตายได้ นอกเหนือจากความเสียหายแล้ว
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความรู้จักกับศัตรูพืชเหล่านี้ บทความนี้ขอแนะนำโรคสำคัญของส้มที่ระบาดทำลายในแหล่งปลูกส้มต่าง ๆ ได้แก่ โรคแคงเกอร์ โรครากเน่าและโคนเน่า โรคใบเปื้อนน้ำหมากหรือโรคเมลาโนส
1. โรคแคงเกอร์ เป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri มักพบการระบาดในระยะที่ส้มแตกหรือผลิใบอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการระบาดมากและรุนแรงในฤดูฝน คือประมาณเดือนมิถุนายน จนถึงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน แต่อาจจะพบโรคนี้ได้ประปรายในช่วงเวลาอื่นๆ บริเวณที่พบโรคนี้มากได้แก่สวนที่ค่อนข้างรกทึบ มีการระบาดของหนอนชอนใบมาก หรืออาจพบในสวนส้มที่ปลูกในพื้นที่โล่งแจ้งไม่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมสวนก็ได้ นอกจากนี้ยังพบมากในสวนส้มที่มีการปลูกมะนาวหรือมะกรูดไว้ตามคันล้อมอีกด้วย
การป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์สามารถปฏิบัติได้โดย
1. ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้ผลชนิดต่างๆ สน กระถินเทพา หรือไม้โตเร็วอื่นๆ ล้อมรอบสวนหรือแปลงปลูกเพื่อเป็นแนวกำบังลม
2. ไม่ควรปลูกมะนาวหรือมะกรูดในแปลงปลูกส้มเขียวหวานหรือส้มโอ เพราะมะนาวและมะกรูดเป็นส้มพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์ และมักเป็นแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุของโรค
3. ป้องกันกำจัดหนอนชอนใบส้ม ซึ่งส่งเสริมการแพร่ระบาดของโรค
4. โรคแคงเกอร์สามารถป้องกันได้โดยการใช้สารประกอบของทองแดง เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (ฟังกูราน-โอเอช) หรือคอปเปอร์ในรูปของบอร์โดมิกซ์เจอร์ (จุนสีผสมกับปูนขาว ในอัตรา ๖๐-๘๐ กรัม ต่อ ๘๐-๑๐๐ กรัม ละลายในน้ำ ๒๐ ลิตร) หรือคิวปริกไฮดร็อกไซด์ ในอัตรา ๑๐-๒๐ กรัมผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นในระยะส้มแตกใบอ่อน หรือในช่วงระยะเวลาต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน ฉีดพ่นประมาณ ๑๐-๑๕ วัน/ครั้ง เพื่อป้องกันโรค และ ๕-๗ วัน/ครั้ง ๒-๓ ครั้งติดต่อกันเพื่อควบคุมรักษาโรค
5. หากมีการระบาดของโรคแคงเกอร์รุนแรงมากจนการใช้สารประกอบของทองแดงหรือคอปเปอร์ไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องใช้สารปฏิชีวนะประเภทสเตรปโตมัยซิน โดยใช้ในอัตรา ๓๐๐–๕๐๐ ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) ฉีดพ่นประมาณ ๗–๑๐ วัน/ครั้ง พ่น ๒ – ๓ ครั้งติดต่อกัน แต่การใช้สารปฏิชีวนะมีข้อจำกัดและข้อต้องระมัดระวังมาก ในสภาพปกติทั่วไปไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้
2. โรคเมลาโนส หรือโรคราน้ำหมาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Cercospora citri พบระบาดมากในฤดูแล้งหรือราวเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน โรคนี้มักเกิดกับใบที่เริ่มเพสลาด โดยเกิดตุ่มคล้ายกระดาษทรายน้ำหรือรอยเปื้อนคล้ายน้ำหมากบนใบโดยเฉพาะด้านใต้ใบ และอาจเกิดกับกิ่งโดยทำให้แห้งตายจากปลายกิ่งได้ โรคเมลาโนสมี ๒ ชนิด คือ โรคทรูเมาลาโนส และ โรคกรีซซี่เมลาโนส
การป้องกันกำจัดโรคเมลาโนสสามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ โดย
1. ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มของต้นส้มไม่ให้รกทึบ
2. หากพบโรคในระยะแรกเริ่มและไม่มีการระบาดมาก ควรรีบตัดกิ่งที่เป็นโรคและเผาทำลาย ฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ซีเนบ มาเนบ หรือ แมนโคเซบ (ไดเทน เอ็นที เอ็ม-45) เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
3. ในกรณีที่เกิดการระบาดของโรค ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา โปรปิเนบ คลอโรทาโลนิล หรือ คาร์เบดาซิม (เบ็นตัส หรือ เบ็นตัส เอสซี) พ่นประมาณ ๗–๑๐ วัน/ครั้ง ๒-๓ ครั้งติดต่อกัน
3. โรครากเน่าและโคนเน่า จัดเป็นโรคที่รุนแรงมากอย่างหนึ่งสำหรับการปลูกส้ม เกิดจากการทำลายของเชื้อรา Phytophthora parasitica ทำให้เกิดอาการแผลเน่าสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดงบริเวณโคนต้น กิ่งและรากของต้นส้ม อาจพบอาการยางไหลจากแผลบริเวณโคนต้น ต้นส้มที่เป็นโรคมักมีสภาพทรุดโทรมไม่สมบูรณ์แข็งแรง มีการแตกใบน้อย ใบมักมีสีเหลืองซีด ต้นที่เป็นโรครุนแรงจะมีอาการคล้ายการขาดน้ำ มักระบาดรุนแรงมากกับต้นส้มที่ปลูกในดินเปรี้ยว
การป้องกันกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่า สามารถปฏิบัติได้ โดย
1. การใช้พันธุ์ส้มที่มีความต้านทานหรือทนต่อโรคและการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุเป็นต้นตอ เช่น ทรอยเยอร์ (Troyer) คาริโซ (Carizo) ไตรโฟลีอาต้า (Trifoliata) ซี-35 (C-35) สำหรับการติดตาด้วยยอดพันธุ์ดีหรือพันธุ์ที่ต้องการ
2. การปรับปรุงคุณภาพของดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการใช้อินทรียวัตถุ และปรับความเปรี้ยวของดินโดยการใช้วัสดุประเภทปูนที่ใช้ทางการเกษตร เช่น ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมต์
3. ดินที่ปลูกส้มต้องมีการระบายน้ำดี ไม่มีสภาพขังน้ำ บริเวณโคนต้นส้มต้องมีลักษณะเป็นเนินไม่เป็นแอ่ง ทรงพุ่มและภายในเรือนพุ่มต้นส้มต้องไม่รกทึบ เพื่อให้อากาศและแสงแดดผ่านได้สะดวก
4. หากพบแผลของโรคที่บริเวณโคนต้นส้ม ให้ถากเปลือกลำต้นที่เป็นแผลออกและทาแผลด้วยสารละลายของสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ โฟซีธิล อัล หรือ ฟอสฟอรัสแอซิด (อามิโก้) หรือ เมทาแลคซิล (โซแลกซิล) หรือ สารแมนโคเซบ+วาลิฟีโนเลท (เอสโตเคด)
5. ในฤดูฝนควรป้องกันและควบคุมเชื้อราโรครากเน่าและโคนเน่า โดยการพ่นหรือราดดินด้วย ฟอสฟอรัสแอซิด (อามิโก้) อย่างน้อย ๒ ครั้ง ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน
6. การใช้จุลินทรีย์ควบคุมและป้องกันโรค ได้แก่ การใช้เชื้อราปฏิปักษ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) โรยดินบริเวณทรงพุ่มหรือผสมน้ำสำหรับการพ่นทางใบเพื่อควบคุมและกำจัดเชื้อราสาเหตุของโรค