โรคสำคัญที่พบว่าระบาดทำลายและทำให้เกิดความเสียหายกับพืชตระกูลส้ม ไม่ว่าจะเป็นส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเช้ง มะนาว ซึ่งได้แก่ โรคแคงเกอร์ โรคใบเปื้อนน้ำหมากหรือโรคเมลาโนส  และ โรครากเน่าและโคนเน่า (มีรายละเอียด ใน โรคสำคัญของส้ม ตอนที่ 1) ยังคงมีโรคสำคัญที่พบระบาดทำลายพืชตระกูลส้มและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  คือ โรคสแค็บ โรคผลร่วงหรือโรคขั้วผลเน่า และโรคราสีชมพู (มีรายละเอียด ใน โรคสำคัญของส้ม ตอนที่ 2) นอกจากโรคที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว โรคที่พบการทำลายพืชตระกูลส้มในเกือบทุกพื้นที่ปลูก และสามารถทำให้ต้นส้มทรุดโทรม ยอดและกิ่งแห้งจากส่วนปลายลงมา และตายในที่สุด คือ โรคทริสเตซา  และ โรคฮวงลองบิงหรือโรคกรีนนิ่ง ซึ่งจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจในบทความ โรคสำคัญของส้ม ตอนที่ 3 ดังนี้

          1.โรคทริสเตซา  โรคนี้บางครั้งเรียกว่า โรคต้นโทรมใบเหลือง เป็นโรคเกิดจากการทำลายของเชื้อไวรัส ที่มีชื่อเรียกว่า Citrus tristeza virus หรือ CTV  มีรูปร่างเป็นท่อนยาวคด  ยาวประมาณ  2 ,000 นาโนเมตร (nm) และกว้างประมาณ 15 นาโนเมตร  เชื้อไวรัสเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในท่ออาหารของพืช  และรบกวนระบบส่งน้ำและอาหารของพืช

          โรคนี้เข้าทำลายส้มได้ทุกชนิดและทุกสายพันธุ์ ทั้ง ส้มโอ ส้มเปลือกล่อน (ส้มเขียวหวานและส้มสายน้ำผึ้ง) ส้มเกลี้ยง มะนาวและมะกรูด ต้นส้มที่เป็นโรคนี้จะมีใบอ่อนที่มีสีเขียวซีดหรือด่าง ใบจะมีอาการด่างเขียวเหลืองเป็นจ้ำๆ  คล้ายขาดธาตุอาหาร ใบบิดเบี้ยว ในใบอ่อนเส้นใบอาจใสกว่าปกติ  เส้นใบมีอาการโปร่งแสงเป็นขีดสั้นๆ (vein clearing)  และมักพบว่าบนใบแก่ของส้มโอ เส้นใบจะนูนหรือแตกเป็นเซลล์แข็ง ๆ (corky vein) ใบส้มจะมีขนาดเล็กลง อาจบิดเบี้ยวผิดปกติ มีการติดผลมากแต่ผลมักหลุดร่วงง่าย ผลมีขนาดเล็ก บริเวณลำต้นหรือกิ่งใหญ่ๆ มีลักษณะไม่เรียบ คล้ายบิดเป็นคลื่นหรือเป็นร่องยาวขนานกับลำต้นหรือกิ่ง และเมื่อเปิดเปลือกออกตรงบริเวณที่เป็นร่อง จะพบว่าเนื้อไม้เป็นร่องเว้าบุ๋มลึกลงไป (stem pitting and stem combing) ต้นส้มที่เป็นโรคจะมีอาการใบเหลือง  ใบมีขนาดเล็กและร่วง  ต้นทรุดโทรม และถ้าเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงมากๆ  ต้นส้มมักยืนต้นตายในที่สุด  โรคทริสเตซานี้เกิดระบาดกับมะนาวได้รุนแรงมากกว่าส้มสายพันธุ์อื่นๆ  โดยมีอาการที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ใบด่างจ้ำ (leaf mottling) ใบบิดโค้งงอเป็นรูปถ้วย (leaf cupping)

 

โรคนี้ระบาดโดยการขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งหรือติดตาจากต้นแม่หรือต้นพันธุ์ที่เป็นโรค และมีแมลงพาหะนำโรค คือ เพลี้ยอ่อนส้มสีดำ  (Black Citrus Aphid: Taxoptera citricidus Kirkaldy)

          สำหรับการควบคุมและการกำจัดโรคนี้    มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

          1.คัดเลือกต้นพันธุ์หรือขยายพันธุ์ต้นส้มจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงไม่เป็นโรคหรือเป็นต้นแม่หรือต้นพันธุ์ส้มที่แข็งแรงและผ่านการทดสอบแล้วว่าปราศโรคหรือปลอดโรค

          2.ดูแลให้ต้นส้มสมบูรณ์แข็งแรงด้วยการให้ธาตุอาหารและน้ำอย่างเหมาะสมกับความต้องการของต้นส้มแต่ละชนิด ตามระยะการเจริญเติบโตและตามผลของการวิเคราะห์ดิน

          3.การใช้ต้นตอมะขวิด  หรือราฟเลมอน  ต้องระมัดระวังอย่างมาก  หากยอดพันธุ์ยังไม่ปราศจากโรคอย่างแท้จริง  จะทำให้โรคระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น

          4.ป้องกันและควบคุมกำจัดแมลงพาหะนำโรค ซึ่งได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้มสีดำและเพลี้ยอ่อนชนิดอื่นๆ

           2.โรคฮวงลองบิงหรือโรคกรีนนิ่ง (Huanglongbing Or Greening) โรคนี้อาจมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เกษตรกรบางรายอาจเรียกว่า โรคใบแก้ว โรคใบเหลือง โรคต้นโทรม หรือโรคกรีนนิ่ง เป็นต้น โรคนี้แต่เดิมเข้าใจว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อมายโคพลาสมา (Mycoplasma) ต่อมามีรายงานว่าเกิดจากเชื้อสาเหตุที่มีลักษณะคล้ายแบคทีเรียแกรมลบ เรียกว่า Greening Organism (GO)  แต่ปัจจุบันจะเรียกโรคนี้ว่า  โรคฮวงลองบิง (Huanglongbing, HLB) และสรุปว่าเกิดจากเชื้อ  Citrus Huanglongbing Bacterium ‘Candidatus Liberibacter asiaticus’  ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ gram-negative, fastidious α-proteobacterium  มีขนาดเล็กโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 – 500 นาโนเมตร (nm)  เป็นโรคที่พบระบาดอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของโลก ทำความเสียหายรุนแรงอย่างมากและพบในพืชตระกูลส้มเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะกับส้มเปลือกล่อน คือ ส้มเขียวหวานและส้มสายน้ำผึ้ง ทำให้เกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ประสบความเสียหายรุนแรงและล้มเลิกการปลูก   อย่างไรก็ดีพบว่าส้มโอในประเทศไทยเกือบทุกสายพันธุ์ค่อนข้างทนทานต่อโรคนี้  ลักษณะอาการโรคนี้ทั่วไปที่พบ คือ ใบส้มมีขนาดเล็กลง มีสีเหลือง เส้นใบมีสีเขียว ใบชี้ตั้งตรง คล้ายอาการขาดธาตุสังกะสี ปลายกิ่งแห้งตายจากส่วนยอด ต้นส้มให้ผลผลิตลดลง  เนื่องจากผลส้มมักร่วงก่อนกำหนด ผลส้มมีขนาดและคุณภาพลดลง ต้นส้มจะค่อยๆทรุดโทรมและตายในที่สุด

โรคนี้มีการแพร่ระบาดได้เช่นเดียวกับโรคทริสเตซา คือ เชื้อสาเหตุของโรคติดไปกับกิ่งตอน การติดตาหรือเสียบยอดจากต้นแม่หรือต้นพันธุ์ที่เป็นโรค มีแมลงเป็นพาหะนำโรคในประเทศไทย คือ เพลี้ยกระโดดส้ม

          แนวทางการจัดการและป้องกันกำจัดโรค

          1.สำหรับสวนส้มปลูกใหม่ จะต้องเลือกกิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ ผ่านการทดสอบแล้วว่าปราศจากโรค

          2.ป้องกัน ควบคุมและกำจัดแมลงพาหะนำโรค โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดส้ม เมื่อส้มแตกใบอ่อน หรือเริ่มพบการแมลงและการระบาดทำลายโดยเฉพาะในฤดูฝน

          3.การเลือกแนวทางในการรักษาโรค ด้วยการใช้สารละลายปฏิชีวนะ ได้แก่ สารแอมพิซิลลิน ฉีดเข้าลำต้น หรือทำลายต้นที่เป็นโรคโดยเผาทิ้ง