หัวฉีด เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำหน้าที่หลายๆ อย่างพร้อมกัน ได้แก่ ทำให้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแตกตัวเป็นละออง ทำให้มีรูปแบบการกระจายของละอองสารบนเป้าหมาย และควบคุมอัตราการไหลของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หน้าที่ทั้ง 3 ประการของหัวฉีดนี้ทำให้การพ่นสารมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ตามต้องการ  ในปัจจุบันหัวฉีดที่ใช้ทางการเกษตรแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามลักษณะของแหล่งที่ให้กำเนิดพลังงาน  ได้ดังนี้

1. หัวฉีดชนิดใช้แรงดันของเหลว

       หัวฉีดชนิดนี้นิยมใช้กันมาก ซึ่งจะใช้กับเครื่องพ่นสารชนิดต่างๆ ทั้งเครื่องพ่นสารขนาดเล็กที่ไม่ใช้เครื่องยนต์และเครื่องพ่นสารขนาดใหญ่ชนิดใช้เครื่องยนต์ หรือลากจูงด้วยรถแทรกเตอร์ มีหลักการ คือใช้ความดันซึ่งได้จากของเหลวหรือลมบังคับให้สารละลายของเหลวไหลผ่านรูหัวฉีด เมื่อของเหลวผ่านจากรูหัวฉีดออกไปจะแตกตัวเป็นละอองสารขนาดต่างๆ กัน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่แตกต่างกันมาก ความดันและขนาดของรูหัวฉีดเป็นปัจจัยสำคัญควบคุมขนาดของละอองสารที่เกิดขึ้น ถ้าความดันสูงละอองสารที่เกิดขึ้นจะเป็นฝอยละเอียด ตรงกันข้ามถ้าใช้ความดันต่ำละอองสารที่เกิดขึ้นจะมีขนาดโต ขนาดของรูหัวฉีดก็เช่นกัน รูหัวฉีดขนาดเล็ก จะได้ละอองสารที่เล็กละเอียด และถ้ารูหัวฉีดมีขนาดโตละอองสารที่ได้จะหยาบ

        หัวฉีดชนิดใช้แรงดันของเหลวแบ่งเป็น 3 แบบ คือ หัวฉีดแบบรูปกรวย หัวฉีดแบบแรงปะทะ และหัวฉีดแบบรูปพัด

       1.1 หัวฉีดแบบรูปกรวย เป็นหัวฉีดที่นิยมใช้กันมากในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 2 ชิ้น คือ รูหัวฉีด ทำด้วยโลหะบางๆ เจาะรูขนาดเล็กตรงกลาง และแผ่นทำให้เกิดกระแสวน ทำด้วยโลหะหรือวัสดุแข็งเป็นแผ่นบางๆ หรือเป็นแท่งกลม มีรูหรือร่องเอียงให้ของเหลวไหลผ่านเพื่อให้เกิดการหมุนวนด้านหลังของรูหัวฉีด และเมื่อผ่านรูหัวฉีดออกไปจะมีการกระจายของละอองสารเป็นรูปทรงกรวยกลม ลักษณะการกระจายของละอองสารมีด้วยกัน 2 รูปแบบ เมื่อทำการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ถ้าพื้นที่ตรงกลางของรูปกรวยนั้นว่าง เรียกว่า หัวฉีดแบบกรวยกลวง แต่ถ้ารูปกรวยนั้นมีละอองสารกระจายเต็มในวงกลม เรียกว่า หัวฉีดแบบกรวยทึบ (ภาพที่ 1) โดยทั่วไปนิยมใช้หัวฉีดแบบกรวยกลวงมากกว่ากรวยทึบเนื่องจากสิ้นเปลืองสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชน้อยกว่า หัวฉีดแบบนี้มีขนาดของรูฉีดและแผ่นทำให้เกิดกระแสวนให้เลือกหลายขนาดเพื่อให้ได้อัตราการไหลและขนาดของละอองสารที่ต้องการ โดยทั่วไปประสิทธิภาพการทำงานของหัวฉีดชนิดนี้จะสูงสุดเมื่อใช้ความดัน ตั้งแต่ 40-60 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และเนื่องจากละอองสารสามารถวิ่งเข้าหาเป้าหมายได้ทุกทิศทางจึงนิยมใช้พ่นสารกำจัดแมลง และสารป้องกันกำจัดโรคพืช

       1.2 หัวฉีดแบบแรงปะทะ เป็นหัวฉีดสำหรับพ่นสารกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะ ทำด้วยโลหะหรือพลาสติกแข็ง เป็นชิ้นเดียว มีรูขนาดต่างๆ ตรงกลางของเหลวที่ไหลผ่านรูนี้จะปะทะกับแผ่นกั้น แล้วกระจายตัวออกเป็นละอองในลักษณะของรูปพัด มีมุมระหว่าง 100-145 องศา ขึ้นอยู่กับความดันที่ใช้ (ภาพที่ 2) แต่โดยทั่วไป หัวฉีดแบบนี้ให้การกระจายของละอองสารกว้างมากกว่าหัวฉีดชนิดอื่น และใช้ความดันค่อนข้างต่ำประมาณ 5-15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อต้องการให้ได้ละอองขนาดโตจะได้ไม่ปลิวไปถูกพืชอื่นที่อยู่ข้างเคียง พื้นที่ที่ละอองสารตกลงจะเป็นรูปวงรีแคบๆ บริเวณปลายทั้ง 2 ข้างจะบานออกเล็กน้อย

       1.3 หัวฉีดแบบรูปพัด หัวฉีดแบบนี้ทำด้วยวัตถุชิ้นเดียว มีลักษณะกลมแบน ตรงกลางเจาะรูเป็นรูปวงรีเล็กๆ ให้ของเหลวไหลผ่าน ของเหลวที่ไหลผ่านรูหัวฉีดด้วยความดันสูงจะกระทบกัน และแผ่กระจายออกเป็นรูปพัด โดยมีการกระจายบนเป้าหมายในลักษณะเรียวหัว-ท้าย มีความกว้างของมุมที่ของเหลวออกมาอยู่ระหว่าง 65-110 องศา (ภาพที่ 3) อัตราการไหลของของเหลวจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ขนาดของรูหัวฉีดและความดัน หัวฉีดชนิดนี้ใช้ในการพ่นสารกำจัดวัชพืช โดยใช้ความดันต่ำประมาณ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อบังคับให้ได้ละอองสารมีขนาดโตจะได้ไม่ปลิวไปถูกพืชข้างเคียง นอกจากนั้นยังสามารถใช้พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืชได้ หรือใช้ในงานทางสาธารณสุขเพื่อพ่นสารกำจัดยุง โดยใช้ความดันสูงขึ้นประมาณ 40-60 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ทั้งนี้เพื่อให้ได้ละอองสารที่เล็กละเอียด เป็นต้น

การเลือกใช้หัวฉีดชนิดใช้แรงดันของเหลว

       การใช้หัวฉีดชนิดใช้แรงดันของเหลวนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยพิจารณาพร้อมกับอุปกรณ์เครื่องพ่นสารทีใช้ และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่จะทำการพ่น สามารถเลือกใช้ตาม ตารางที่ 1

       การเลือกใช้หัวฉีดชนิดใช้แรงดันของเหลว นอกจากต้องคำนึงถึงชนิดของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงอัตราการพ่นสารต่อหน่วยเวลาและความกว้างของแนวพ่นสารด้วยจึงจะได้ประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด รวมทั้งประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย

2.หัวฉีดชนิดใช้แรงลม

       หัวฉีดชนิดนี้ใช้ร่วมกับเครื่องยนต์พ่นสารสะพายหลังชนิดใช้แรงลม ละอองสารเกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของมวล 2 ชนิด ได้แก่ กระแสลม และของเหลว โดย มีหลักการดังนี้ ของเหลวจากถังบรรจุสารถูกบังคับให้ไหลตามท่อส่งสาร  ซึ่งปลายทางออกของท่อส่งสารจะโผล่ตรงกลางทางเดินของกระแสลมซึ่งเป่าออกมาด้วย ความเร็วสูง ของเหลวนั้นจะถูกกระแสลมตีให้แตกตัวออกเป็นละอองสารขนาดเล็ก และถูกพัดพาไปยังเป้าหมาย (ภาพที่ 4) ขนาดของละอองสารจะเล็กหรือโตขึ้นอยู่กับความเร็วของลม และอัตราการไหลของของเหลว ถ้ากระแสลมมีความเร็วสูงและอัตราการไหลน้อย ละอองสารจะมีขนาดละเอียดมาก และตรงกันข้ามถ้าความเร็วลมต่ำ อัตราการไหลผ่านหัวฉีดมาก ละอองสารที่เกิดขึ้นมีขนาดโตขึ้นด้วย (ภาพที่ 5)

3.หัวฉีดชนิดใช้แรงเหวี่ยง

       หัวฉีดชนิดนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตละอองสารที่มีขนาดเล็กและสม่ำเสมอดีกว่าหัวฉีด 2 ชนิดแรกที่กล่าวมาแล้ว หลักการทำงานของหัวฉีดประเภทนี้ ได้แก่ ให้ของเหลวจำนวนน้อยไหลลงบนจานที่หมุนด้วยความเร็วสูง ของเหลวดังกล่าวจะถูกสลัดออกโดยรอบขอบจานทำให้เกิดละอองสารขึ้น เช่น หัวฉีดของเครื่องพ่นสารแบบจานหมุน (ULVA) ที่ทำงานด้วยแบตเตอรี่ (ภาพที่ 6) ขนาดของละอองสารที่เกิดขึ้นจากหัวฉีดแบบนี้ ขึ้นอยู่ที่ความเร็วรอบของจานหมุน ถ้าจานด้วยความเร็วรอบสูง ละอองสารที่เกิดขึ้นจะละเอียดมาก แต่ถ้าความเร็วรอบต่ำจะได้ละอองสารขนาดโตขึ้น