เรียบเรียงโดย : รศ.ดร.วิบูลย์  จงรัตนเมธีกุล

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืชชนิดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหลายชนิด เช่น แมลงดำหนามมะพร้าว หนอนหัวดำมะพร้าว เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และล่าสุดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ซึ่งมีรายงานการตรวจพบครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2561 และแม้ว่าจะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และการเฝ้าระวังโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เพียงไม่นานหนอนชนิดนี้ก็ระบาดไปทั่ว ปัจจุบันได้แพร่ระบาดไปมากกว่า 50 จังหวัดทั่วทุกพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดในประเทศไทย สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก การแจ้งเตือนและการเฝ้าระวังศัตรูพืชมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรับรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีข้อมูลและเตรียมตัวรับมือกับศัตรูพืชชนิดนั้นๆ หากสามารถตรวจพบศัตรูพืชชนิดใหม่ได้แต่เนิ่นๆ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะจำกัดขอบเขตการระบาดมิให้ขยายเป็นวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น หรืออาจสามารถดำเนินการกำจัดจนสิ้นซากหมดสิ้นไปจากประเทศได้

          “หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ”  เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กอยู่ในวงศ์ Gelechiidae อันดับ Lepidoptera แมลงชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเปรู ซึ่งต่อมาได้แพร่กระจายทั่วไปในทวีปอมริกาใต้ แต่ในปัจจุบันมีแผนที่การแพร่กระจายดังภาพ โดยสามารถพบได้ทั้งในอเมริการใต้ ยุโรป และแอฟริกา

            สำหรับในทวีปเอเชียมีรายงานการพบครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อปี 2557 และในประเทศเนปาลและบังคลาเทศเมื่อปี 2559 (Hossain et. al., 2016) นอกจากนั้น ในรายงานครึ่งปี Semi-Annual Report (October 1 2017 - March 31 2018) ของโครงการ Feed the Future, The U.S. Government’s Global Hunger & Food Security Initiative โดย Integrated Pest Management Innovation Lab ได้ระบุว่าพบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศในประเทศพม่าเมื่อเดือนเมษายนปี 2560 พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าแมลงชนิดนี้น่าจะระบาดมายังประเทศไทยภายในปี 2561

            หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศจัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของมะเขือเทศ สามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงหากขาดการจัดการที่เหมาะสม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ปีกมีเกล็ดสีเทาปนน้ำตาล หนวดยาวเห็นเป็นปล้องสีอ่อน-เข้มสลับกันชัดเจน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายผีเสื้อหนอนใยผัก ผีเสื้อวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเล็กๆ  2-5 ฟอง บนใบ ลำต้น หรือผลอ่อน สามารถวางไข่ได้ถึง 260 ฟองต่อตัว ไข่รูปทรงรีอาจมีสีขาวจนถึงเหลืองเข้ม และเปลี่ยนเป็นเกือบดำเมื่อใกล้ฟัก ระยะไข่ 4-5 วัน

 

            หนอนวัยแรกมีสีขาว มีขาจริงที่ส่วนอก 3 คู่ และขาเทียมที่ส่วนท้อง 4 คู่ และที่ปล้องท้ายสุดอีก 1 คู่ หนอนจะเปลี่ยนเป็นสีออกเขียวหรือชมพูอ่อนเมื่อเข้าสู่วัยที่ 2 ขึ้นอยู่กับอาหาร หนอนมี 4 ระยะ รวมเวลาประมาณ 8-14 วัน เมื่อใกล้เข้าดักแด้จะมีสีชมพูเข้มขึ้น หนอนอาจเข้าดักแด้ภายในชั้นระหว่างผิวใบทั้งสองด้านที่ชอนไชอยู่โดยไม่สร้างใยห่อหุ้ม หรืออาจออกจากใบเดิมแล้วสร้างรังไหมห่อหุ้มเพื่อเข้าดักแด้ติดกับใบใหม่หรือที่ผิวดินหรือใต้เศษซากพืช ดักแด้มีสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อใกล้ออกเป็นผีเสื้อ ระยะดักแด้ 7-10 วัน

 

            หลังจากฟักออกจากไข่ หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศจะเจาะผิวใบเข้าไปกัดกินเนื้อใบสีเขียว ทำให้เกิดเป็นโพรงระหว่างผิวใบด้านบนและด้านล่าง ลักษณะโพรงเป็นปื้นขนาดใหญ่แตกต่างจากอุโมงค์ที่เป็นทางคดเคี้ยวของหนอนแมลงวันชอนใบ เมื่อนำใบส่องดูกับแสงอาจเห็นหนอนและมูลอยู่ภายใน เมื่อหนอนเจริญเติบโตขึ้นหรือมีหนอนหลายตัวอยู่ในใบเดียวกันก็อาจออกจากโพรงเพื่อไปชอนไชเข้าใบใหม่  หากเข้าทำลายระยะมะเขือเทศต้นเล็กใบอาจถูกทำลายทั้งหมดทำให้ต้นตายได้

           

                  ในระยะมะเขือเทศต้นโตและมีการระบาดรุนแรงผลผลิตอาจเสียหายได้ 80-100% โดยทั่วไปแล้วหนอนจะเข้าทำลายใบเป็นหลัก แต่บางครั้งอาจพบทำลายยอดอ่อนและดอก  นอกจากนี้ หนอนวัยท้ายๆ ยังสามารถเจาะทำลายผลได้ด้วย โดยมักเจาะเข้าบริเวณใกล้ขั้วผล ทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายซ้ำได้ พฤติกรรมการเจาะเข้าผลนี้ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่แมลงชนิดนี้จะเล็ดลอดเข้ามาภายในประเทศโดยการติดมากับผลผลิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ด่านตรวจพืชโดยเฉพาะด่านบริเวณชายแดนไทย-พม่าจะต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบผลผลิตเกษตรที่เข้ามาภายในราชอาณาจักรไทยโดยละเอียด พืชอาหารอื่นของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ เช่น  มะเขือยาว มะเขือม่วง มันฝรั่ง พริกหวาน รวมทั้งวัชพืชบางชนิด เช่น ผักโขม ลำโพง เป็นต้น

            หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศชนิดใหม่นี้แตกต่างจากหนอนชอนใบมะเขือเทศที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย คือ หนอนชอนใบชนิดเดิมเป็นหนอนแมลงวันซึ่งตัวหนอนไม่มีขา และไม่เห็นส่วนหัวที่ชัดเจน ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร สีเหลืองปนดำ ดังนั้นหากเกษตรกรรายใดสำรวจแปลงมะเขือเทศและพบเห็นมะเขือเทศที่มีลักษณะความเสียหายหรือพบหนอนชอนใบที่มีขาทั้งขาจริงและขาเทียมสอดคล้องกับลักษณะของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศดังกล่าว จะต้องรีบแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ตรวจสอบยืนยันและดำเนินการต่อไป ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น

 

การจัดการหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ

          เนื่องจากหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดใหม่ที่เข้ามายังประเทศไทยไม่นานนัก และกรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งดำเนินงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอยู่ในขณะนี้ ข้อมูลการควบคุมและการจัดการจึงอ้างอิงจากคำแนะนำและผลงานวิจัยของต่างประเทศเป็นหลัก โดยพบว่าการหมั่นสำรวจแปลงปลูกมะเขือเทศ และพืชอาหารอื่น อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถตรวจพบแมลงและดำเนินการควบคุมได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถดำเนินการโดยใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน

  1. การปลูกพืชหมุนเวียน โดยไม่ปลูกพืชอาหารของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศต่อเนื่องกันหลายฤดูปลูก แต่สลับด้วยการปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหาร เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของแมลง และลดปัญหาการระบาดทำความเสียหายต่อพืชผล เช่น ปลูกมะเขือเทศ พืชตระกูลถั่ว กะหล่ำ มันเทศ แล้วจึงวนกลับมาปลูกมะเขือเทศอีกครั้ง หากไม่สามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ หลังเก็บเกี่ยวแล้วควรปล่อยแปลงทิ้งว่างไว้อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนเริ่มฤดูปลูกใหม่

  2. เลือกใช้ต้นกล้าที่สะอาดปราศจากแมลงและร่องรอยการทำลายของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ

  3. สำรวจแปลงปลูกเป็นประจำทุกวันหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เก็บใบที่มีร่องรอยการทำลายของหนอนและผลที่ร่วงหล่นไปเผาทำลาย หรือนำไปฝังดินลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาหารของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ หลังเก็บเกี่ยวควรไถกลบทำลายเศษซากพืชที่เหลือตกค้างในแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงต่อไป

  4. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ โดยเฉพาะตัวห้ำหลายชนิดที่สามารถทำลายไข่และหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศวัยแรกก่อนที่จะชอนเข้าไปในใบ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อศัตรูธรรมชาติ

  5. แบคทีเรียบาซิลลัส ทูรินเยนซิส Bacillus thuringiensis (Bt) และเชื้อราขาว Beauvaria bassiana สามารถทำให้หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเป็นโรคตายได้ เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้มีความไวต่อสภาพแวดล้อม ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมหนอน เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัด

  6. หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวหรือสารที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบเดียวกันซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาความต้านทานของแมลงต่อสารกำจัดแมลง ควรมีการสลับกลุ่มสารเคมีเป็นระยะตามช่วงอายุขัยของแมลง สารกำจัดแมลงที่มีรายงานในต่างประเทศถึงประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ เช่น

    • คลอแรนทราลินิโพรล และ ฟลูเบนไดอะไมด์ (กลุ่ม 28)

    • สไปโนแซด และ สไปนีโทแรม (กลุ่ม 5)

    • อินด็อกซาคาร์บ (กลุ่ม 22)

    • เชื้อบาซิลลัส ทูรินเยนซิส (กลุ่ม 11)


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw