สารกำจัดศัตรูพืช (pesticide) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการกำจัดแมลง วัชพืช จุลินทรีย์สาเหตุโรคพืช และสัตว์ศัตรูพืชต่างๆ เช่น หนู และหอย เป็นต้น สารเหล่านี้ถูกนำมาใช้ทั้งในทางการเกษตร สาธารณสุข ป่าไม้ การเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว อุตสาหกรรมอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย

          นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มทำการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แทนการหาพืชผักผลไม้และล่าสัตว์จากธรรมชาติ พืชและสัตว์เหล่านั้นก็ต้องได้รับการดูแลและปกป้องจากการทำลายโดยศัตรูต่างๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามที่ต้องการ ในสมัยโบราณชาวโรมันใช้ขี้เถ้า ใบสนบดละเอียด และน้ำปัสสาวะในการป้องกันความเสียหายจากศัตรูพืช และต่อมาก็เริ่มมีพัฒนาการวิธีการแก้ปัญหาศัตรูพืชให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นไปตามกาลเวลาและการสั่งสมองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งวิธีการที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและวิธีการใช้สารเคมี สารเคมียุคแรก (1G) เป็นสารอนินทรีย์จากธรรมชาติเช่น กำมะถัน แต่ต่อมาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากมีการค้นพบและนำ DDT มาใช้ในการกำจัดแมลงจึงเป็นยุคของสารอินทรีย์สังเคราะห์ (2G) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน เมื่อความก้าวหน้าทางวิชาการมีมากขึ้นจึงเริ่มมีการสังเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชที่มีโครงสร้างเลียนแบบสารที่มีอยู่ภายในตัวของศัตรูพืชเองและมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของศัตรูพืช (3G) เช่น สารที่มีผลต่อการลอกคราบของแมลง (insect growth regulator, IGR) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันจะพบว่าสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดเป็นสารที่ผลิตขึ้นจากสิ่งมีชีวิตอื่น (4G) เช่น สารสกัดจากพืช จุลินทรีย์ รวมถึงชีวภัณฑ์ต่างๆ

         แม้ว่าสารกำจัดศัตรูพืชจะมีประโยชน์ต่อการเกษตรมากมายกล่าวคือ ช่วยปกป้องความเสียหายของผลผลิตจากแมลง วัชพืช โรคพืช และสัตว์ศัตรูพืชอื่นๆ ขณะอยู่ในแปลงปลูก ช่วยป้องกันความเสียหายของผลผลิตจากการทำลายและการปนเปื้อนจากหนูและแมลงศัตรูในโรงเก็บขณะอยู่ระหว่างการขนส่งและในโรงเก็บ ช่วยปกป้องผลผลิตจากการปนเปื้อนโดยเชื้อราซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ นอกจากนั้นสารกำจัดศัตรูพืชยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้และเวลามากขึ้นจากผลผลิตที่มากขึ้นและจากการใช้สารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยกำจัดศัตรูพืชในสินค้าส่งออกและช่วยกำจัดหรือชะลอการแพร่กระจายของศัตรูพืชรุกรานต่างๆ แต่ในยุคดิจิตอลที่มีการสื่อสารแบบไร้พรมแดน ข้อมูลข่าวสารต่างๆ สามารถเข้าถึงบุคคลและหน่วยงานทุกระดับได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจไม่สามารถยืนยันความถูกต้องหรือตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ทำให้เกิดคำถามอยู่เนืองๆ ถึงอันตรายและความจำเป็นของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช และเป็นปัญหาที่วงการธุรกิจเคมีเกษตรในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

         ในเรื่องของอันตรายของสารกำจัดศัตรูพืชคงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า สารกำจัดศัตรูพืชที่มนุษย์ผลิตขึ้นควรเป็นสารที่มีพิษต่อศัตรูพืชชนิดหรือกลุ่มนั้นเท่านั้น แต่ไม่ควรเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่นหรือสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้วสารกำจัดศัตรูพืชก็ยังคงจัดเป็นสารพิษที่อาจมีค่าความเป็นพิษ (toxicity) แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรง (แถบสีแดง) บางชนิดมีพิษปานกลาง (แถบสีเหลือง) บางชนิดมีพิษต่ำ (แถบสีน้ำเงิน) ความเป็นพิษเหล่านี้เป็นสมบัติประจำตัวของสารกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิด แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงอันตราย (hazard) ที่อาจเกิดจากสารกำจัดศัตรูพืชนั้นๆ พึงเข้าใจไว้ว่า   Hazard   =    Toxicity  +  Exposure

         สารที่มีพิษต่ำอาจเกิดอันตรายสูงได้หากขาดความระมัดระวังในการใช้ และทำให้ผู้ใช้หรือผู้เกี่ยวข้องได้รับสารพิษเข้าไปในร่างกาย (exposure) ในขณะที่สารที่มีพิษร้ายแรงอาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ก็ได้หากผู้ใช้มีการป้องกัน และปฏิบัติงานตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดด้วยความระมัดระวัง

          ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องถึงวิธีการและเทคนิคในการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งต่อตัวเอง ผู้คนรอบข้าง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอื่นได้เป็นอย่างดี

 

  • เลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยเกษตรกรควรพิจารณาวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบอื่นเป็นอันดับแรกๆ และเลือกใช้วิธีการที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยอาจใช้วิธีการเดียวหรือหลายวิธีการร่วมกัน เพื่อช่วยลดประชากรศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป หากพิจารณาแล้ววิธีการอื่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ก็ให้เลือกใช้สารที่มีพิษสูงต่อศัตรูพืชเป้าหมาย แต่ไม่มีพิษหรือมีพิษต่ำต่อสิ่งมีชีวิตอื่น โดยปฏิบัติตามหลักการใช้สารกำจัดศัตรูอย่างถูกต้องปลอดภัย (safe use)

  • ใช้สารกำจัดศัตรูพืชเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น ซึ่งหมายถึงใช้สารกำจัดศัตรูพืชเมื่อประชากรของศัตรูพืชมีมากจนก่อให้เกิดความเสียหาย และมูลค่าความเสียหายมีมากและคุ้มกับการลงทุนใช้สารกำจัดศัตรูพืช ในเรื่องนี้จึงมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ จะต้องมีการสำรวจประชากรศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอจึงจะรู้ว่ามีจำนวนประชากรศัตรูพืชมากน้อยเพียงใด และต้องสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำว่าระดับประชากรดังกล่าวมีผลกระทบต่อผลผลิตเพียงใด เป็นมูลค่าเท่าใด (ต้องสามารถประเมินราคาของผลผลิตล่วงหน้าได้) จึงจะนำมาเปรียบเทียบได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพิจารณารายละเอียดของการลงทุนใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งโดยทั่วไปผู้ใช้มักจะคิดเพียงแค่ค่าสารกำจัดศัตรูพืชและค่าจ้างแรงงานในการพ่นสาร เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลือกใช้สารที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพปานกลางหรือต่ำ แทนการเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ราคาแพง โดยไม่ได้พิจารณารายละเอียดหรือต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบของสารที่เลือกใช้ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ผลต่อสภาพแวดล้อม ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของเกษตรกร แรงงาน และพิษตกค้างต่อผู้บริโภค ซึ่งถ้าสามารถประเมินรายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวเป็นต้นทุนของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ก็จะทำให้สามารถระบุได้ว่าการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในครั้งนั้นมีความคุ้มค่าหรือเหมาะสมเพียงใด

         ในส่วนของคำถามถึงความจำเป็นของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากย้อนกลับไปอ่านตอนต้นของบทความนี้จะเห็นได้ว่าการป้องกันกำจัดศัตรูพืชซึ่งรวมถึงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชนั้น ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาของการเกษตรและระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น สารกำจัดศัตรูพืชคงหมดความจำเป็นหากมนุษย์ย้อนกลับไปหาอาหารจากธรรมชาติโดยไม่มีการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ (เป็นไปไม่ได้!!!) จึงทำให้เราต้องค้นหาคำตอบว่าทำไมการทำการเกษตรจึงทำให้มีความจำเป็นต้องทำการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ศัตรูพืชเหล่านี้มีอยู่ในระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือไม่ และ “ระบบนิเวศทางการเกษตร” ต่างจาก “ระบบนิเวศตามธรรมชาติ” อย่างไร

         ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ พืชพรรณและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีความหลากหลายทั้งในแง่ชนิด พันธุ์ (พันธุกรรม) ขนาด อายุ ความสมบูรณ์ ฯลฯ มีการแก่งแย่งแข่งขันและควบคุมกันเองไม่ให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งมากจนเกินไป ศัตรูพืชที่เกิดในระบบนิเวศนั้นก็มีบทบาทเป็นเพียงผู้บริโภคหนึ่งของสายใยอาหาร และถูกควบคุมหรือกินโดยผู้บริโภคอื่นที่มีลำดับชั้นอาหารสูงขึ้นไป ทำให้อยู่ในภาวะสมดุลไม่เกิดการระบาดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิชานิเวศวิทยา ที่ความหลากหลาย (diversity) จะทำให้เกิดความซับซ้อน (complexity) ของความสัมพันธ์เชิงอาหาร มีการกินและควบคุมกันหลายทอด และนำไปสู่เสถียรภาพ (stability) ของระบบนิเวศนั้น ในขณะที่การทำการเกษตรมักเป็นการทำให้ผิดธรรมชาติ ระบบนิเวศทางการเกษตรโดยส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกเพื่อการค้าขายจึงมักทำในลักษณะของการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกพืชชนิดเดียว พันธุ์เดียว หรือเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อลดต้นทุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และปัจจัยการผลิตต่างๆ พร้อมทั้งเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ เช่น ปลูกพร้อมกัน เก็บเกี่ยวพร้อมกัน เป็นต้น การปฏิบัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลผลิต/รายได้/กำไรมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับเป็นการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศนั้น ศัตรูพืชมักเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการสูญเสียความสมดุลจึงทำให้เกิดการระบาดขึ้น และทำให้มนุษย์ต้องพัฒนาวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้น และสารเคมีก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่มนุษย์พัฒนาขึ้น

         หากมนุษย์ต้องการสร้างความสมดุลให้กลับคืนมาใหม่ มนุษย์จะต้องศึกษาจากธรรมชาติและเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนของการสร้างความหลากหลายเพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบนิเวศคือ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรไทย และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ไม่ได้ทรงหยุดอยู่ที่ความเข้าใจในหลักวิชาเท่านั้น แต่ยังประยุกต์ทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมและต่อยอดไปสู่ความยั่งยืน (sustainability) ของระบบนิเวศและการมีชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรและครอบครัวโดยเริ่มต้นจากการสร้างความหลากหลายของพืชที่เพาะปลูกภายในแปลง และใช้ประโยชน์จากพื้นดินที่มีอยู่อย่างเต็มที่และคุ้มค่าที่สุด

         อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำการผลิตเพื่อการค้าและเมื่อเกิดปัญหาศัตรูพืชก็เลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นวิธีการที่ให้ผลรวดเร็ว หากเกษตรกรไทยเริ่มหันมาปฏิบัติตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านจากการเกษตรเชิงเดี่ยวไปเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่อาจมีความยากลำบากบ้าง โดยต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าที่ระบบนิเวศจะเข้าสู่สภาวะสมดุลใกล้เคียงกับระบบนิเวศตามธรรมชาติ ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ผลผลิตโดยทั่วไปจะค่อนข้างต่ำ เกษตรกรทั่วไปน่าจะสามารถปรับตัวได้ดีในระดับหนึ่ง และท้ายที่สุดเมื่อเข้าสู่สภาวะสมดุลหรือใกล้เคียงสมดุล ความจำเป็นในการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะลดลงอย่างชัดเจน เกษตรกรไทยก็จะมีชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพ แต่ผลกระทบที่รุนแรงในช่วงเปลี่ยนผ่านจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับเกษตรกรหรือสังคมในชนบท แต่จะมีผลกับสังคมเมืองซึ่งผู้คนหลากหลายอาชีพพึ่งพาอาหารจากภาคการเกษตร เมื่อผลผลิตลดลง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรยังคงเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของประเทศ

         ดังนั้น ตราบใดที่ชุมชนเมืองยังไม่มีการพัฒนาให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้มากขึ้น ตราบนั้นการเกษตรของไทยส่วนใหญ่ก็จะยังคงเป็นรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นการผลิตเพื่อการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเกษตรรูปแบบที่มักขาดความสมดุลและเป็นเหตุให้ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชกันต่อไป


Line@ ID: goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

Facebook: www.facebook.com/sotus.int/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw