โรคใบติดทุเรียนเป็นโรคสำคัญโรคหนึ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพบอยู่เสมอๆ มักพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน ลักษณะอาการเริ่มแรก พบว่าใบคล้ายถูกน้ำร้อนลวก มีสีซีดจาง ขอบแผลสีเขียวเข้ม รูปร่างแผลไม่แน่นอน อาจเริ่มที่ปลายใบ กลางใบ หรือโคนใบ แล้วลุกลามจนเต็มใบ ทำให้ใบซีดและแห้งอย่างรวดเร็ว และจะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนแผ่ปกคลุมตามผิวใบคล้ายใยแมงมุม เส้นใยของเชื้อราสามารถทำลายใบที่อยู่ติดกันได้ ใบที่ถูกทำลายจะไหม้ แห้ง ติดกันเป็นกระจุก และร่วงหล่นไปในที่สุด โดยใบที่เป็นโรคอาจร่วงหล่นไปตกค้างอยู่กับใบที่อยู่ถัดลงมาและบริเวณโคนต้น ทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา โรคใบติดนี้จะระบาดได้รวดเร็วในช่วงฤดูฝน และช่วงที่มีความชื้นสูง  โดยเฉพาะต้นที่มีใบแน่นทึบเกินไป ต้นที่เป็นโรคจะมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ยอดโค้งงอ และชะงักการเจริญเติบโต

        เชื้อราสาเหตุโรคเป็นราที่อาศัยอยู่ในดิน และเศษซากใบทุเรียนที่อยู่บริเวณโคนต้น รวมทั้งในวัชพืชบางชนิด เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่น ร้อนชื้น มีฝนตกและแล้งสลับเป็นบางช่วง โรคจะมีการระบาดได้ดี สปอร์ของเชื้อราจะเจริญเติบโตสร้างเส้นใย และลุกลามไปยังใบและกิ่งใกล้เคียง เมื่อใบอื่นๆ มาสัมผัสกับใบที่เป็นโรคเชื้อจะยึดติดกันและสร้างเส้นใยหนาแน่น  เมื่อใบที่เป็นโรคร่วงหล่นหรือลมพัดไปยังยอดอื่น จะนำเชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดไปด้วย

  1. ไม่ควรปลูกทุเรียนให้ชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้ทรงพุ่มประสานกัน เกิดโรคและระบาดติดต่อกันได้ง่าย

  2. ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย ตลอดจนทำความสะอาดบริเวณโคนต้น โดยเก็บใบที่เป็นโรคเผาทำลาย

  3. ในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกชุกและอากาศร้อนชื้นควรใช้สารเคมีพ่น เพื่อป้องกัน ก่อนการเกิดโรคระบาด โดยใช้ คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ 77% WP (ฟังกูราน-โอเอช) อัตรา 200-300 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP (โคบ๊อกซ์) อัตรา 300-400 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ในกรณีที่พบการเกิดโรคแล้วควรพ่น เพื่อรักษาโรค โดยใช้ ฟลูไตรอะฟอล 5 % SC (จอยท์) อัตราใช้ 200-400 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ เพนทิโอไพแรด 20% SC (กาบิน่า) อัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน จนกว่าโรคจะหยุดระบาด

 

เอกสารอ้างอิง
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด. เอกสารเผยแพร่วิชาการหลักสูตร “หมอพืช-ไม้ผล” ฉบับที่ 1 โครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคม เนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคทุเรียน. เอกสารเผยแพร่วิชาการหลักสูตร “หมอพืช-ไม้ผล” ฉบับที่ 4 โครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคม เนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศุภลักษณ์ กลับน่วม อัญชลี พัดมีเทศ. มปป. โรคทุเรียน. แผ่นพับเผยแพร่ที่ 172 กรมส่งเสริมการเกษตร
สุชาติ วิจิตรานนท์. 2547. โรคทุเรียนและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการทุเรียน กรมวิชาการเกษตร กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด. 2557. ข่าวพยากรณ์และเตือนภัยการระบาดศัตรูพืช สำนักงาน         เกษตรจังหวัดตราด “ลดต้นทุน และปลอดภัย หากเกษตรกรใช้การศัตรูพืชแบบผสมผสาน” ประจำเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2557 (ฉบับที่ 3/2). กรมส่งเสริมการเกษตร

สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw