โรคแคงเกอร์ หรือ โรคขี้กลาก (Canker)  เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri    โรคนี้เกิดได้ง่ายและรุนแรงในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 - 30 องศาเซลเซียส และมีหนอนชอนใบส้มเข้าทำลาย นอกจากนี้ก็แพร่กระจายได้ด้วยลม น้ำค้าง ฝน แมลง และคน ส่วนสำคัญในการแพร่กระจายของโรค คือ การเคลื่อนย้ายกิ่ง และต้นพันธุ์ที่มีโรคจากแหล่งหนึ่งไปยังแหล่งอื่นๆ เป็นระยะทางไกลๆ โรคนี้ระบาดจะช่วงเดือนพฤษภาคม- กันยายน

  • ส้มทุกชนิดและทุกสายพันธุ์จะอ่อนแอต่อโรคนี้ แต่มะนาวเป็นโรคนี้ได้รุนแรงกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะมะนาวพันธุ์แป้น และพันธุ์ไข่ จะเป็นโรครุนแรงกว่าพันธุ์หนังหรือพันธุ์ตาฮิติ

  • สภาพภูมิอากาศร้อนและชื้น คือ อุณหภูมิประมาณ 20 - 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสูง อากาศครึ้มเป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน ดังนั้นฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคมาก

  • เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายส้มได้ง่ายและรุนแรง หากมีหนอนชอนใบเข้าทำลายทำให้เกิดแผลก่อน

  • สภาพแปลงปลูกซึ่งอยู่บริเวณที่โล่ง ไม่มีพืชกำบังลมล้อมรอบ อาการของโรคมักปรากฏมากกว่าแปลงปลูกที่มีพืชกำบังลม

  • ใบ ระยะเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ ขนาดประมาณหัวเข็มหมุด มองเห็นได้ไม่ชัด ลักษณะเป็นจุดกลม ใส โปร่งแสง ฉ่ำน้ำ และมีสีซีดกว่าสีของใบ ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น  และมีสีเข้มคล้ำขึ้น ลักษณะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ จากระยะเริ่มแรกที่แผลมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนก็เปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนที่นูนและฟูคล้ายฟองน้ำก็จะแตกออกเป็นสะเก็ด ขรุขระคล้ายเปลือกไม้แตก  มีรอยบุ๋มเล็กน้อยตรงกลาง และมีวงสีเหลืองซีดล้อมรอบรอยแผล หรืออาจไม่พบวงสีเหลืองที่ล้อมรอบก็ได้ ในการเข้าทำลายนี้อาจพบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของใบ หรือพบทั้งสองด้านของใบก็ได้  แต่โดยมากจะเห็นแผลชัดเจนบริเวณส่วนใต้ใบ

  • กิ่งก้าน มักพบแผลของโรคที่บริเวณกิ่งอ่อน ระยะแรกแผลมีสีเหลือง นูนฟู คล้ายแผลที่เกิดบนใบ ต่อมาแผลจะขยายออกโดยรอบกิ่ง แผลมักมีรูปร่างไม่แน่นอนหรือขยายออกตามความยาวของกิ่ง ต่อมาจะกลายเป็นแผลแห้ง แข็ง สีน้ำตาลเข้ม ซึ่งลักษณะแผลที่กิ่งก้านนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มมากกว่าที่เกิดบนใบ และบริเวณรอบนอกแผลไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบ

  • ผล แผลของโรคมีลักษณะอาการคล้ายกับที่พบที่ใบ แผลที่เกิดในระยะแรกจะมีลักษณะจุดกลม บริเวณรอบแผลดูคล้ายกับฝังลึกลงไปในผิวของผล แผลจะนูน และฟูคล้ายฟองน้ำ ในระยะแรกจะมีสีเหลือง แข็ง และเมื่อแผลมีอายุมากขึ้น สีของแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล บางครั้งแผลจะรวมกันทำให้มีขนาดใหญ่เป็นแผลสะเก็ด รูปร่างไม่แน่นอน มักมียางไหลออกจากแผล ลักษณะวงแหวนสีเหลืองรอบแผลไม่ปรากฏชัดเจนเท่าอาการบนใบ ผลส้มเขียวหวาน และส้มสายน้ำผึ้งที่เป็นโรคมักหลุดร่วงได้ง่ายกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ บางครั้งโรคนี้อาจทำให้ผลอ่อนซึ่งมีอายุประมาณ 4 - 6 เดือน แตกตามขวางโดยเริ่มปริจากแผลของโรคแคงเกอร์ โดยเฉพาะเมื่อต้นส้มได้รับน้ำอย่างเต็มที่ ต้นส้มที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรงมากๆ มักแสดงอาการต้นโทรม เจริญเติบโตช้า และแคระแกร็น มีอาการใบร่วงมาก กิ่งแห้งตาย  ผลผลิตลดลง และต้นส้มอาจตายในที่สุด

  1. คัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่แข็งแรง และไม่เป็นโรคแคงเกอร์

  2. ปลูกพืชโตเร็ว หรือพืชยืนต้น เพื่อกำบังลมรอบพื้นที่ปลูกหรือแปลงปลูก

  3. ป้องกันและควบคุมการระบาดของหนอนชอนใบส้มตั้งแต่ระยะใบอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ส้มเกิดบาดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคเข้าทำลายได้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

  4. หากพบการระบาดของโรค ให้ตัดแต่งกิ่งส่วนที่เป็นโรคออก แล้วพ่นด้วย คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP (โคบ๊อกซ์) อัตรา 300-400 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% WP (ฟังกูราน-โอเอช) อัตรา 200-300 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร พ่นเมื่อเริ่มพบการระบาด และพ่นซ้ำทุก 5-7 วัน

  5. พ่นสารเคมีป้องกันโรคในระยะใบอ่อนและผลอ่อน โดยเฉพาะในฤดูฝน เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP (โคบ๊อกซ์) อัตรา 300-400 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% WP (ฟังกูราน-โอเอช) อัตรา 200-300 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร

ขอขอบคุณ

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw