ไรขาวพริก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyphagotarsonemus latus Banks อยู่ในวงศ์ Tarsonemidae จะพบทำลายใบอ่อนและผลอ่อน มักพบทำลายค่อนข้างรุนแรงกับส้มโอ และต้นกล้ามะม่วงที่อยู่ระหว่างการเพาะชำในโรงเรือนและใบยังเป็นสีน้ำตาล

          ไรขาวพริกเพศเมียมีรูปร่างเป็นทรงรี หลังโค้งนูน มีขา 4 คู่ ลำตัวยาวประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ลำตัวตอนท้ายกว้าง ตัวอ่อนมีสีขาวขุ่น ตัวเต็มวัยมีผิวใสเป็นมันคล้ายหยดน้ำมัน  กลางหลังมีแถบสีขาวรูปตัว Y พาดตามความยาวของลำตัว เพศผู้มีลักษณะกว้างตรงกึ่งกลางลำตัวและค่อยๆ เรียวแหลมไปทางด้านหัวและท้าย ขนาดเล็กกว่าเพศเมีย มีวงจรชีวิตสั้นจากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานาน 4-5 วัน ตัวผู้หลังจากลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะเดินไปเรื่อยๆ เมื่อพบดักแด้ตัวเมียจะใช้ขาคู่สุดท้ายช้อนดักแด้ขึ้นไว้บนส่วนท้ายของลำตัว แล้วพาไปยังบริเวณยอดอ่อนของพืช เมื่อดักแด้ลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าผสมพันธุ์ทันที หลังจากผสมพันธุ์ 1-2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ทีละฟอง วางไข่ได้เฉลี่ย 32 ฟองต่อตัวเมีย 1 ตัว และตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 9-12 วัน

          ไรชนิดนี้มีอวัยวะส่วนปากไม่ค่อยแข็งแรง จึงดูดกินเฉพาะใบอ่อนหรือยอดอ่อน ขณะดูดกินน้ำเลี้ยงจะปล่อยน้ำลายซึ่งเป็นพิษต่อพืช ทำให้ใบและยอดหงิกงอ ขอบใบม้วนลง ใบมีลักษณะเรียวแหลม ใต้ใบเป็นสีน้ำตาล ก้านใบยาว เปราะหักง่าย ใบเล็กลง หากการทำลายรุนแรง ส่วนยอดจะแตกเป็นฝอย ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน มีฝนตกชุกและอากาศชื้น หรือระยะแตกใบอ่อน

  1.  เกษตรกรควรสำรวจต้นพืชทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือในระยะพืชแตกใบอ่อน โดยส่องดูด้วยแว่นขยายขนาด 10 เท่า หากพบไรขาวพริกดูดกินน้ำเลี้ยง หรือเด็ดใบส่องดูกับแดด และพบว่ามีจุดขาวคล้ายหยดน้ำมันเคลื่อนที่ไปมา แสดงว่าเริ่มมีการระบาดของไรขาวพริก ให้พ่นด้วยซัลเฟอร์ 80% WP (ไมโครไธออล กำมะถันเนื้อทอง) อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  2. หากมีการระบาดรุนแรงของไรขาวพริก และจำเป็นต้องใช้สารกำจัดไร ให้ใช้อะมิทราซ 20% EC (อะมิทราซ) อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไพริดาเบน 20% WP (ไพดาเบ็น) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโพรพาไกต์ 30% WP (โอไม้ท์ 30) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยสามารถพ่นซ้ำได้ทุก 5-7 วันตามการระบาด แต่ต้องสลับกลุ่มของสารกำจัดไร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเกิดความต้านทานของไรขาวพริกต่อสารกำจัดไร

ขอขอบคุณ 

 รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw