ไรแดงมะม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oligonychus mangiferus (Rahman and Sapra) อยู่ในวงศ์ Tetranychidae เข้าทำลายใบมะม่วง โดยพบการทำลายรุนแรงในบางพื้นที่ และเป็นปัญหาต่อเกษตรกรอยู่ในขณะนี้  นอกจากมะม่วงแล้ว ไรชนิดนี้ยังมีพืชอาหารชนิดอื่นอีก เช่น องุ่น ชมพู่ ฝรั่ง ทับทิม พุทรา กุหลาบ เข็ม เป็นต้น

          ไรแดงมะม่วงเพศเมียมีลำตัวอ้วนกลม ขนาดกว้าง 0.3-0.4 มิลลิเมตร ยาว 0.2-0.3 มิลลิเมตร สีแดงเข้ม มีขา 4 คู่ ขามีสีชมพูหรือสีเหลืองอ่อน เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ด้านหน้าของลำตัวกว้าง และเรียวเล็กลงไปทางด้านท้าย ก้นแหลม ลำตัวสีแดงเข้มเช่นเดียวกัน  ไข่มีขนาดเล็กสามารถมองเห็นได้ด้วยเลนส์แว่นขยายเท่านั้น ลักษณะกลมแบน ระยะแรกมีสีแดงสด เมื่อใกล้ฟักจึงเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ระยะไข่ 4-5 วัน ตัวอ่อนระยะแรกมีสีเขียวอ่อนหรือสีชมพู มีขนาดใหญ่กว่าไข่เล็กน้อยและมีขา 3 คู่ เมื่อโตขึ้นจึงมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่มีขนาดเล็ก มีขา4 คู่ การพัฒนาจากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา 10-11 วัน ในช่วงอากาศร้อนประชากรไรสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตัวเมียแต่ละตัววางไข่ได้ 30-32 ฟอง

          ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากด้านบนใบ (หน้าใบ) ส่วนใหญ่จะเป็นใบแก่เต็มที่ หรือใบเพสลาด โดยจะดูดทำลายตามแนวเส้นกลางใบและบริเวณปลายใบ ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายมีลักษณะขาวซีด บางครั้งพบในระยะเพสลาด ซึ่งเมื่อไรลงทำลายหน้าใบ ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ถ้าระบาดรุนแรง มะม่วงจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตและทิ้งใบได้ นอกจากนี้เมื่อหน้าใบถูกไรแดงเข้าทำลาย จะทำให้เชื้อราสามารถก่อตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไรแดงมะม่วงจะระบาดรุนแรงในช่วงหน้าร้อน และแห้งแล้ง จำนวนจะลดลงในช่วงหน้าฝน

  1. วางแผนการปลูกให้เหมาะสม โดยกำหนดระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวให้ห่างกันพอสมควร  เพื่อไม่ให้มะม่วงมีทรงพุ่มที่ชิดเกินไป และเป็นการป้องกันการเคลื่อนย้ายของไรแดงโดยการเดินไปตามใบที่ติดกัน

  2. เลือกกิ่งพันธุ์ที่ปราศจากไรแดงชนิดนี้อาศัยอยู่ ถ้าไม่แน่ใจควรนำกิ่งพันธุ์นั้นมาพ่นสารกำจัดไร พร้อมทั้งกำจัดไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยให้หมดก่อนนำไปปลูก

  3. ไม่ควรปลูกพืชแซมที่เป็นพืชอาศัยของไรแดงมะม่วง ถ้าไรแดงระบาดบนมะม่วงจะต้องพ่นสารเคมีให้กับพืชอาศัยที่ปลูกเป็นพืชแซมด้วย

  4. ระยะใบเพสลาดเป็นระยะที่ไรดูดกินน้ำเลี้ยงและเจริญเติบโตได้ดี จึงต้องระมัดระวังใบมะม่วงระยะนี้ด้วยเช่นกัน

  5. ควรพิจารณาพันธุ์ที่ปลูก เพราะมะม่วงบางพันธุ์มีสารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไรแดง เช่น พันธุ์สามฤดู

  6. ไม่ควรพ่นสารกำจัดไรในช่วงฝนชุก ยกเว้นฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานเท่านั้น

  7. ควรใช้สารกำจัดไร เมื่อไรแดงเกิดการระบาดขึ้น โดยเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพ เช่น อะมิทราซ 20% EC (อะมิทราซ) อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือซัลเฟอร์ 80% WP (ไมโครไธออล กำมะถันเนื้อทอง)  อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพาไกต์ 30% WP (โอไม้ท์ 30) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพาไกต์ 57% EW (โอไม้ท์ 57 อีดับเบิ้ลยู) อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ต้องรู้อุปนิสัยของไรแดง ซึ่งมักอาศัยอยู่บริเวณด้านหน้าใบ ดังนั้นการพ่นสารกำจัดไรควรจะพ่นข้ามร่อง เพื่อให้ละอองสารตกลงบนหน้าใบ และถูกตัวไรแดงโดยตรงและควรพ่นสารกำจัดไรเฉพาะบริเวณที่มีไรระบาดจำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 วันและต้องสลับกลุ่มสารกำจัดไรเช่นเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความต้านทานของไรแดงมะม่วงต่อสารกำจัดไร

  8. เกษตรกรควรหมั่นสำรวจทุก 7 วัน เมื่อพบไรแดงให้ดำเนินการกำจัดทันทีและเนื่องจากไรแดงมักจะอยู่เป็นกลุ่มจึงสามารถพ่นสารเฉพาะจุด โดยไม่จำเป็นต้องพ่นสารกำจัดไรทั่วทั้งแปลง

 

 

ขอขอบคุณ 

 รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ

 


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw