ไรแดงแอฟริกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eutetranychus africanus (Tucker) วงศ์ Tetranychidae จะพบทำลายใบและผลของส้ม ทุเรียน และพืชอื่นอีกหลายชนิด ไรแดงแอฟริกันเพศเมียลำตัวกลมแบนมีสีแดงเข้มหรือน้ำตาลเกือบดำ ขาทั้ง 4 คู่มีสีเหลืองอ่อน มักอยู่นิ่งกับที่ ความยาวของลำตัวประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.3 มิลลิเมตร เพศผู้มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ด้านหน้าของลำตัวกว้างและค่อยๆ เรียวแคบเล็กลงทางด้านท้าย ก้นแหลม และขายาว มักจะเคลื่อนที่ตลอดเวลา

          ไรแดงแอฟริกันทั้งในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณด้านบนใบพืช โดยเฉพาะใบแก่และใบเพสลาด ทำให้ใบสีจางลงเป็นสีเขียวซีดและเหลืองซีด เนื่องจากใบพืชสูญเสียคลอโรฟิลล์  ไรแดงแอฟริกันจัดเป็นศัตรูที่สำคัญของไม้ผลตระกูลส้ม และทุเรียน  ในพืชตระกูลส้มไรชนิดนี้สามารถลงทำลายที่ผลด้วย  ทำให้สีของผลเปลี่ยนเป็นสีเขียวซีด  หากมีการทำลายรุนแรงในขณะที่ผลยังเล็กอยู่จะทำให้ผลร่วงในที่สุด

      ตัวอย่างพืชอาศัยของไรแดงแอฟริกันมีดังนี้

  • ไม้ผล เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว มะกรูด ส้มจีน มะละกอ ทุเรียน ขนุน สาเก ท้อ มะกอกฝรั่ง

  • พืชผัก เช่น ขี้เหล็ก มะรุม ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา แตงโม ตำลึง ผักบุ้ง

  • พืชไร่ เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ละหุ่ง

  • ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ฝ้ายคำ ลีลาวดี กุหลาบ บานชื่น ชบา แคฝรั่ง

          วงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่เจริญเติบโตบนส้มเขียวหวาน จากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานานประมาณ 9-10 วัน เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ตลอดชั่วอายุขัยประมาณ 12-13 ฟอง และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ10 วัน   ไรแดงแอฟริกันระบาดในแหล่งปลูกส้มทั่วไป โดยจะพบการทำลายบริเวณด้านบนใบ (หน้าใบ) แต่ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง อาจพบการทำลายบริเวณด้านใต้ใบ (หลังใบ) ด้วย และมักจะระบาดมากในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคม และในฤดูฝนช่วงระยะที่ฝนไม่ตกติดต่อกันเป็นเวลานาน

  1. หมั่นสำรวจแปลงส้มอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม และในช่วงฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

  2. เมื่อพบไรแดงแอฟริกันเริ่มลงทำลายส้ม ให้จัดการโดยการให้น้ำติดต่อกันหลายๆ ครั้ง

  3. หากไรแดงแอฟริกันระบาดรุนแรง โดยสังเกตจากใบส้มที่เริ่มมีสีเขียวจางลง และเมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายขนาด 10 เท่า จะพบไรแดงดูดกินอยู่ทั่วไปบนใบ ให้กำจัดโดยวิธีการใช้สารเคมี ด้วยการเลือกพ่นสารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นสารกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น โพรพาร์ไกต์ 30 % WP (โอไม้ท์) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราซ 20 % EC (อะมิทราซ) อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

         แม้ว่าสารกำจัดไรทั้งสองชนิดจะค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวห้ำ ตัวเบียน และผึ้ง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความต้านทานของไรแดงแอฟริกันต่อสารกำจัดไร (ดื้อยา) เกษตรกรไม่ควรใช้สารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ควรพ่นสารกำจัดไรดังกล่าวสลับกัน  ทั้งนี้ถ้าพบว่ายังมีไรแดงระบาดอยู่ ให้พ่นสารกำจัดไรซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยเว้นระยะห่าง 5 วัน

          สำหรับไรแดงแอฟริกันที่เจริญเติบโตบนทุเรียน  จากระยะไข่จนเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานานประมาณ 9-10 วัน โดยมีระยะไข่ 4-5 วัน ตัวอ่อนมี 3 ระยะ ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 14-15 ฟอง โดยลูกที่ฟักออกมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเจริญเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ขณะที่ลูกที่ฟักออกมาจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จะมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย   ทันทีที่ฝนหยุดตกและอากาศแห้งลงเมื่อใด ไรแดงแอฟริกันจะเพิ่มประชากรขึ้นอย่างรวดเร็วทันที  ในแหล่งปลูกทุเรียนทั่วไปมักพบไรแดงแอฟริกันเริ่มระบาดมากในเดือนกันยายน-ตุลาคม  และจะพบไรแดงสูงที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จากนั้นจำนวนไรแดงจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเริ่มมีฝนและปริมาณอาจสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน  ซึ่งแล้งจัด  แต่จะพบไรแดงน้อยมากในช่วงฤดูฝน

  1. กำจัดวัชพืชในสวนทุเรียน ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งหลบซ่อนของไรแดงแอฟริกัน

  2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียนหรือบริเวณใกล้เคียง ถ้าเกษตรกรมีรายได้จากพืชเหล่านั้น เช่น ส้ม มะละกอ หรือพืชตระกูลถั่ว ก็ควรป้องกันกำจัดไรแดงชนิดนี้บนพืชอาศัยนั้นด้วย

  3. หมั่นสำรวจไรแดงบนใบทุเรียนเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อฝนเริ่มทิ้งช่วง อากาศแห้งแล้ง และมีลมพัดแรง และในช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน-ตุลาคม) และฤดูแล้ง

  4. หากพบการระบาดของไรแดงแอฟริกัน และจำเป็นต้องใช้สารเคมี สารกำจัดไรที่มีประสิทธิภาพในการใช้ควบคุมปริมาณไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียน ได้แก่ โพรพาร์ไกต์ 30% ดับบลิวพี (โอไม้ท์) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมิทราซ 20% อีซี (อะมิทราซ) อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ไม่ควรใช้สารกลุ่มเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานานควรมีการสลับกลุ่มเพื่อป้องกันไรเกิดความต้านทานเช่นเดียวกับวิธีการใช้สารกำจัดไรแดงแอฟริกันในสวนส้ม

ขอขอบคุณ 

 รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw