หนอนใยผัก  ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Plutella xylostella  จัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมากชนิดหนึ่งของพืชตระกูลกะหล่ำ นอกจากจะสามารถพบระบาดทำความเสียหายมากได้ทั่วทุกแหล่งปลูกตลอดทั้งปีแล้วยังมีวงจรชีวิตสั้น สามารถพัฒนาความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก มักเห็นบินอยู่ในแปลงเป็นประจำ เกษตรกรจึงมักเรียกว่า “ตัวบิน” หรือ “ตัวจรวด” เวลาเกาะมักเอาหัวชี้ขึ้น และหนวดชี้ไปข้างหน้า ตัวเมียวางไข่ติดๆ กันเป็นกลุ่ม 2-5 ฟอง เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ ตัวหนอนจะแทะกินผิวใบและเนื้อใบด้านล่างเป็นวง และมักทิ้งผิวใบด้านบนซึ่งมีลักษณะโปร่งแสงเอาไว้  เมื่อโตขึ้นจึงกัดกินทั้งใบจนทะลุเป็นวงกว้าง หากมีการระบาดรุนแรงหนอนใยผักจะกัดกินใบจนเป็นโพรงเหลือแต่ก้านใบ ถ้าเข้าทำลายผักในระยะต้นอ่อน หนอนจะกัดทำลายส่วนยอดจนพืชผักชะงักการเจริญเติบโต สำหรับผักในระยะที่ออกดอก ติดฝัก ดอกและฝักอาจถูกทำลายหมดได้ เมื่อถูกรบกวนหนอนจะทิ้งตัวลงสู่ด้านล่าง โดยห้อยตัวกับใยที่ยึดไว้กับใบพืชด้านบน หนอนที่โตเต็มที่จะถักใยเป็นรังขนาดเล็กห่อหุ้มตัวติดตามซอกใบพืชเพื่อเข้าดักแด้อยู่ภายใน    หนอนใยผักมักจะเริ่มระบาดมากตั้งแต่ฤดูหนาว และจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนระบาดมากในช่วงท้ายของฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง ซึ่งเป็นระยะที่มีการปลูกผักกันมาก สำหรับในเขตภาคกลางหนอนใยผักสามารถระบาดรุนแรงได้ตลอดทั้งปี โดยระดับความรุนแรงจะลดลงบ้างในช่วงฤดูฝนเนื่องจากฝนเป็นอุปสรรคต่อการบินของแม่ผีเสื้อ

          หนอนเจาะยอดกะหล่ำ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hellula undalis  ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  จะระบาดทำความเสียหายกับผักตระกูลกะหล่ำโดยเฉพาะกับกะหล่ำปลี และคะน้า โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินในส่วนยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดขาดไม่เข้าปลี หรือทำให้กะหล่ำปลีแตกแขนง หรือกัดกินเป็นโพรงเข้าไปในส่วนของก้านใบและลำต้น ในกรณีที่ระบาดในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ หนอนจะสามารถเจาะเข้าไปในก้านช่อดอก ทำให้ช่อดอกหักพับ ตัวหนอนมักสร้างใยคลุมบริเวณที่อาศัย และมีขุยมูลที่ถ่ายออกมาบริเวณปากรูที่เจาะ เข้าดักแด้ภายในโพรงที่อาศัย โดยทั่วไปมักพบการระบาดตลอดทั้งปีแต่พบระบาดมากในฤดูแล้ง

          หนอนคืบกะหล่ำ  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Trichoplusia ni  เป็นหนอนขนาดกลางสีเขียวอ่อน ส่วนหัวแคบกว่าส่วนท้าย สังเกตเห็นได้ชัดจากวิธีการคืบเดิน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง มักวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณใต้ใบพืช ตัวหนอนวัยแรกสีขาวใสจะกัดกินผิวใบและเนื้อใบโดยเหลือผิวใบอีกด้านหนึ่งไว้เช่นเดียวกับหนอนใยผัก แต่เมื่อโตขึ้นจะกินจุ สามารถกัดกินทั้งใบทำให้เป็นรอยแหว่งเหลือแต่ก้านใบ การทำลายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะระบาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

          หนอนกระทู้ผัก ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Spodoptera litura  ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่ม 50-200 ฟอง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อนจากปลายส่วนท้องของตัวเมีย ส่วนใหญ่จะพบกลุ่มไข่ที่ด้านใต้ใบพืช หนอนวัยแรกเมื่อฟักออกจากไข่จะมีสีเขียวอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กัดกินผิวใบและเนื้อใบสีเขียวด้านล่างและเหลือผิวใบด้านบนไว้ เห็นเป็นสีขาวซีด เมื่อหนอนโตขึ้นเข้าสู่ช่วงปลายวัยที่ 2 จะเห็นจุดสีดำบริเวณส่วนอกข้างละจุดชัดเจน หนอนจะเริ่มกระจายตัวออก แยกย้ายไปทำลายพืชทั้งใบ ดอก และผล เป็นรูเว้าแหว่ง หนอนวัยสุดท้ายจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ความยาว 3-4 เซนติเมตร กินจุมาก ความเสียหายที่เกิดกับพืชผักเกือบทั้งหมดเกิดจากการทำลายของหนอนวัยสุดท้ายเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงทิ้งตัวลงเพื่อเข้าดักแด้ใต้เศษซากพืชและรอยแตกตามผิวดิน นอกจากพืชตระกูลกะหล่ำแล้วหนอนกระทู้ผักยังสามารถทำลายพืชอื่นได้อีกหลายชนิดเช่น พืชตระกูลถั่ว ทานตะวัน ฝ้าย บัวหลวง ฯลฯ แต่เป็นหนอนที่กำจัดได้โดยง่าย เพราะหนอนอ่อนแอต่อสารเคมีทุกชนิด จึงไม่เป็นปัญหาในการป้องกันและกำจัด

          หนอนกระทู้หอม หนอนหลอดหอม หรือ หนอนหนังเหนียว  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Spodoptera exigua  ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดเล็กถึงกลาง ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ทั้งลักษณะกลุ่มไข่ หนอนวัยแรก และลักษณะการทำลายของหนอนวัยแรกซึ่งรวมกลุ่มกัดกินเนื้อใบ และผิวใบเพียงด้านเดียว จะคล้ายคลึงกับหนอนกระทู้ผักมากทำให้จำแนกได้ค่อนข้างยาก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน เนื่องจากหนอนกระทู้ผักจะมีจุดสีดำบริเวณอกข้างละจุด ในขณะที่หนอนกระทู้หอมจะไม่มีจุด และผิวหนังค่อนข้างเรียบเป็นมัน หนอนวัย 3 จะแยกย้ายกัดกินทุกส่วนของพืช หากปริมาณหนอนมีมากจะเกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรง หนอนกระทู้หอมเป็นแมลงที่สามารถพัฒนาความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้ดี และรวดเร็วมากจึงทำให้มีชื่อเรียกว่า “หนอนหนังเหนียว” นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมหลบซ่อนตัว จึงกำจัดได้ค่อนข้างยาก มักพบการระบาดรุนแรงในฤดูร้อน

 

  1. การติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถดักจับผีเสื้อของหนอนในผักตระกูลกะหล่ำได้หลายชนิด ช่วยลดการระบาดของหนอนและลดการใช้สารกำจัดแมลงได้มากกว่า 50 %

  2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือรู้จักทั่วๆ ไปว่าผักกางมุ้ง พบว่า สามารถป้องกันไม่ให้แม่ผีเสื้อเข้าไปวางไข่บนพืชผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อาจพบด้วงหมัดผัก เพลี้ยอ่อน บ้างเล็กน้อย) ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงที่อาจเล็ดลอดเข้าไปได้

  3. หมั่นสำรวจแปลงผักเป็นประจำ หากสังเกตเห็นใบผักถูกกัดกินเนื้อใบเหลือเป็นรอยสีขาว ให้พลิกดูด้านใต้ใบ มักจะพบหนอนกระทู้ผักหรือหนอนกระทู้หอมวัยแรกๆ อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ให้เด็ดใบนั้นและนำไปทำลาย จะช่วยให้สามารถกำจัดหนอนได้คราวละมากๆ หากปล่อยทิ้งไว้จนหนอนโตขึ้นจะแยกย้ายออกจากกัน ทำให้อาจพบหนอนได้ครั้งละ 1-2 ตัวเท่านั้น

  4. อนุรักษ์และส่งเสริมศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช โดยใช้สารกำจัดแมลงเมื่อจำเป็นเท่านั้น และปลูกไม้ดอกบริเวณรอบๆ แปลงเพื่อเป็นแหล่งน้ำหวาน และแหล่งซ่อนตัวสำหรับตัวเต็มวัยแตนเบียน และศัตรูธรรมชาติอื่นๆ

  5. การควบคุมหนอนใยผักโดยวิธีใช้แตนเบียนไข่ จากการทดลองปล่อยแตนเบียนไข่ในอัตรา 60,000 ตัวต่อไร่ ทุกๆ 10 วัน พบว่าสามารถควบคุมการระบาดของหนอนใยผักให้อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเศรษฐกิจได้ แต่หากมีการระบาดของแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หนอนกระทู้หอม ด้วงหมัดผัก หนอนเจาะหยอดกะหล่ำ ควรพิจารณาการใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อแตนเบียนน้อยที่สุด เช่น การใช้เชื้อไวรัส NPV ควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้หอม การใช้ไส้เดือนฝอยควบคุมการระบาดของด้วงหมัดผัก แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลงบ้างหากมีการระบาดของหนอนเจาะยอดกะหล่ำเป็นต้น

  6. การใช้สารกำจัดแมลง เช่น สไปนีโทแรม 12.5% SC (เอ็กซอล) อัตรา 20-30 ซีซี สลับกับ บาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์ ไอซาไว (Bacillus thruringiensis aizawai) 35,000 DBMU/ mg (เซนทารี) อัตรา 50 - 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 - 7 วัน เมื่อพบการระบาด เพื่อชะลอการพัฒนาความต้านทานของแมลงต่อสารกำจัดแมลง

 

ขอขอบคุณ

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw