ด้วงหมัดผักแถบลาย หรือ ด้วงหมัดกระโดด หรือ ตัวกระเจ๊า  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Phyllotreta striolata  สามารถเข้าทำลายพืชตระกูลกะหล่ำได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผักกวางตุ้ง ผักกาดหัว (หัวไชเท้า) คะน้า ฯลฯ ตัวเมียวางไข่บริเวณโคนต้นพืช ไข่ฟักเป็นตัวหนอนและมุดลงในดิน เข้าไปกัดกินบริเวณโคนต้นและรากของผัก ทำให้รากไม่สามารถเจริญได้ดี ในกรณีของผักกาดหัว จะทำให้รากแคระแกร็น เสียหาย ถ้ารากของผักถูกทำลายมากๆ จะทำให้พืชผักเหี่ยวเฉา ไม่เจริญเติบโต และอาจตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูค่อนข้างกลม ขนาดใกล้เคียงกัน หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบเป็นรูพรุนทั่วทั้งใบ และอาจกัดกินผิวลำต้น และกลีบดอกด้วย ด้วงหมัดผักแถบลายชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อตกใจหรือถูกรบกวนจะกระโดด และสามารถบินได้ไกล

          ด้วงหมัดผักแถบลายสามารถระบาดได้ในทุกฤดูกาล โดยจะเริ่มระบาดมาจากบริเวณรอบแปลงปลูก ซึ่งมีวัชพืชที่ด้วงหมัดผักแถบลายใช้เป็นอาหารและพืชอาศัย เช่น ผักเสี้ยน ผักเสี้ยนผี ผักเบี้ยหิน หรือแม้กระทั่งผักบุ้งนา ก็สามารถใช้เป็นแหล่งอาหารและพืชอาศัยได้ ด้วงหมัดผักแถบลายจะอพยพเข้ามาในแปลงปลูกเมื่อถึงฤดูเพาะปลูก เพราะมีผักเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อสิ้นสุดการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต และรื้อแปลง ทำให้ขาดแหล่งอาหาร ด้วงหมัดผักแถบลายก็จะอพยพออกไปอาศัยวัชพืชเป็นแหล่งอาหารแทน และจะอพยพกลับเข้ามาเมื่อเริ่มการเพาะปลูกครั้งต่อไป

 

  1. ทำความสะอาดในแปลง และบริเวณรอบแปลงปลูก อย่าให้มีวัชพืชที่ด้วงหมัดผักใช้เป็นอาหารและพืชอาศัย รวมถึงเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ด้วย นอกจากนี้ยังควรพลิกหน้าดินตากแดดฆ่าเชื้อโรค และตัวอ่อนของแมลงต่างๆ หลังการเก็บเกี่ยวเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มปลูกรอบต่อไป วิธีนี้นอกจากจะช่วยทำลายหนอนของด้วงหมัดผักแถบลายที่หลงเหลืออยู่ในดินแล้ว ยังช่วยลดการเกิดโรคในผักได้อีกด้วย

  2. ในแปลงปลูกใหม่หรือแปลงที่สามารถดำเนินการได้ ให้ปลูกพืชกับดักหรือพืชล่อ 1-2 แถว บริเวณโดยรอบแปลง ก่อนการปลูกพืชผักภายในพื้นที่แปลงล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ พืชกับดักอาจเป็นพืชชนิดเดียวกับพืชผักที่จะปลูกภายในแปลง หรือพืชผักชนิดอื่นที่ด้วงหมัดผักใช้เป็นอาหารได้ และเจริญเติบโตได้เร็ว มีความสูงกว่าพืชผักที่เราต้องการปลูก เพื่อล่อให้ตัวเต็มวัยด้วงหมัดผักที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงอพยพเข้ามายังพืชกับดัก และเราสามารถกำจัดได้โดยการพ่นสารฆ่าแมลงเฉพาะในพืชกับดัก ทำให้ช่วยลดจำนวนด้วงหมัดผักแถบลายที่จะเข้าไปวางไข่ในพืชผักที่ปลูกตามหลัง

  3. ควรปลูกผักภายในโรงเรือนตาข่ายไนล่อนที่มีขนาด 32 mesh ถ้าหากไม่ใช้โรงเรือนอาจใช้อุโมงค์ตาข่ายที่ใช้ไม้ไผ่โค้งทำเป็นโครงรูปอุโมงค์ตลอดความยาวของแปลงสูงประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยตาข่ายไนล่อนพร้อมทั้งฝังกลบชายตาข่ายทุกด้านลึกประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อป้องกันด้วงหมัดผักแถบลายมุดชายตาข่ายเข้าไปทำลายผักด้านใน ไม่ควรใช้ตาข่ายไนล่อนที่ตาห่างกว่า 32 mesh   เพราะด้วงหมัดผักแถบลายที่มีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร สามารถลอดเข้าตามช่องตาข่ายได้ การใช้ตาข่ายไนล่อนสามารถช่วยลดความรุนแรงจากการระบาดของด้วงหมัดผักแถบลายได้ดีที่สุด เพราะเป็นการป้องกันการเข้าทำลายจากภายนอกซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของการระบาดที่รุนแรง

  4. การใช้สารเคมี เช่น คาร์บาริล 85% WP (เซฟวิน 85) อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบซัลแฟน 20% EC (มาเนอร์) อัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ไดโนทีฟูแรน 10% WP (สตาร์เกิล) อัตรา 10-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 20% SG (เท็นจู) อัตรา 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร จะให้ผลในการกำจัดด้วงหมัดผักแถบลายได้ดี ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ เกษตรกรควรใช้สารกำจัดแมลงฟิโพรนิล 5% SC (มอร์เก็น) อัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จะมีประสิทธิภาพดีกว่า

 

ขอขอบคุณ

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw