เพลี้ยอ่อนลูกท้อ (Myzus persicae) และ เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ (Lipaphis erysimi) เพลี้ยอ่อนทั้งสองชนิดสามารถเข้าทำลายพืชตระกูลกะหล่ำ โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากทุกส่วนของพืช เช่น ลำต้น ใบ ยอด กิ่ง ดอก ตลอดจนฝัก แต่มักพบหนาแน่นบริเวณยอดอ่อน และใบอ่อน โดยใช้ปากแบบเจาะดูดแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชแล้วดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ยอด และใบอ่อน มีอาการหงิกงอ ใบเหลือง เหี่ยวแห้ง และร่วงหล่นไป เมื่อพืชถูกทำลายมากๆ จะหยุดเจริญเติบโตและตายได้ เพลี้ยอ่อนมีวงจรชีวิตสั้น ตัวเต็มวัยมีทั้งรูปแบบที่มีปีก และไม่มีปีก เพลี้ยอ่อนที่พบโดยทั่วไปเป็นเพลี้ยอ่อนเพศเมียซึ่งสามารถออกลูกเป็นตัวได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ จึงทำให้เพิ่มปริมาณและระบาดได้อย่างรวดเร็ว

  1. หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลง และอนุรักษ์ตัวห้ำต่างๆ ของเพลี้ยอ่อน เช่น ด้วงเต่าลายจุด ด้วงเต่าลายหยัก ตั๊กแตนตำข้าว แมลงช้างปีกใส และแมลงวันดอกไม้ (แมลงวันเซอร์ฟิด)

  2. ปลูกดาวเรือง หรือมะเขือเทศ แซมในแปลงผักกาด หรือกะหล่ำ เวลาเดินตรวจแปลงให้ขยี้ใบดาวเรืองหรือมะเขือเทศให้มีกลิ่นออกมาไล่เพลี้ยอ่อน นอกจากนั้นพืชที่มีดอกสีเหลืองยังช่วยดึงดูดตัวห้ำและตัวเบียนของเพลี้ยอ่อนให้เข้ามาสู่แปลงอีกด้วย

  3. ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง และจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลง สามารถใช้สารสารกำจัดแมลงต่างกลุ่มพ่นสลับกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง สารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยอ่อน เช่น คาร์บาริล 85% WP (เซฟวิน 85) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20ลิตร   อีโทเฟนพร๊อกซ์ 20% EC (ทรีบอน20)  อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ไดโนทีฟูแรน 20 % SG (เท็นจู) อัตรา 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP (สตาร์เกิล) อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

 

ขอขอบคุณ

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ให้คำปรึกษา ตรวจแก้ไข เรียบเรียง และให้คำแนะนำ

 


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw