เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดในเขตภาคใต้ ระวังโรคเหี่ยวกล้วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งระบาดหนักในแปลงกล้วยหินแถวจังหวัดยะลากินพื้นที่หลายพันไร่  และขณะนี้โรคเหี่ยวกล้วยขยายการระบาดในพื้นที่จังหวัดสงขลาบนพื้นที่ดอนอำเภอนาทวี และสะเดา จากเดิมพบเป็นเฉพาะกล้วยหินที่ยะลา  มาในขณะนี้พบเป็นทั้งกล้วยหินและกล้วยน้ำว้า เสียหายแล้ว 100% ตอนนี้ยังไม่มีสารเคมีในการป้องกันกำจัด และคาดว่าถ้าควบคุมการระบาดไม่ได้ โรคนี้จะมีการระบาดในพื้นที่ปลูกกล้วยทั่วประเทศได้

            โรคเหี่ยวกล้วยหินเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะอาการของโรคคืออาการเหี่ยวที่บริเวณใบธง (ใบอ่อน) ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาใบอื่นๆ แสดงอาการเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นเทียม จะเห็นท่อน้ำท่ออาหารเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ปลีกล้วยแคระแกร็น และหากติดผล เนื้อภายในจะเป็นสีดำ ถ้ารุนแรงมากจะยืนต้นตาย ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้

            แบคทีเรียที่เข้าทำลาย และอาศัยอยู่ในท่อน้ำท่ออาหารของต้นกล้วย ทำให้ต้นกล้วยแสดงอาการของโรคเหี่ยว แบคทีเรียชนิดนี้เป็นเชื้อโรคสามารถอาศัยอยู่ในดินได้นาน 14 เดือน สามารถแพร่ระบาดได้โดยติดไปกับหน่อกล้วยหินที่มาจากต้นที่เป็นโรค ดินปลูกที่ติดไปกับหน่อกล้วย อุปกรณ์ทางการเกษตรหรือยานพาหนะ ที่สำคัญติดไปโดยการใช้มีดตัดเครือกล้วย หรือ ใบกล้วยของต้นที่เป็นโรคแล้วไปตัดต้นอื่นที่ไม่เป็นโรคจะทำให้เกิดการระบาด

            นอกจากนี้ต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว และมีเครือกล้วยที่แสดงอาการรุนแรงจนเครือกล้วยเน่าแล้ว มักมีแมลงมาตอมทำให้เชื้อแบคทีเรียติดไปกับขาของแมลง เมื่อแมลงไปตอมเครือกล้วยของต้นปกติทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ หากพบโรคต้องทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรคให้หมดไปจากแปลง โรคนี้ยังไม่มีสารเคมีในการป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินที่เกิดจากแบคทีเรีย

  1. ในการซื้อหน่อพันธุ์ต้องตรวจสอบ และหลีกเลี่ยงการนำหน่อมาจากแหล่งเป็นโรค

  2. สำหรับในพื้นที่ที่พบการระบาด ต้องระวังการนำเชื้อออกไปสู่แหล่งอื่นๆ เช่น งดขายหน่อ ทำลายเชื้อในต้นที่เป็นโรค

  3. ทำลายกอกล้วยที่เป็นโรค โดยใช้สารกำจัดวัชพืช ไตรโครเพอร์ บิวทอกซี่เอทิล เอสเตอร์ 66.8% อีซี วิธีเตรียมอุปกรณ์ โดยใช้ไม้เสียบลูกชิ้น ความยาวประมาณ 8 นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืชไตรโครเพอร์ บิวทอกซี่เอทิล เอสเตอร์ 66.8% อีซี สูงประมาณ 4-5 นิ้ว แช่ทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นนำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่ ไตรโครเพอร์ บิวทอกซี่เอทิล เอสเตอร์ 66.8% อีซี ไว้แล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรค เข้าไปลึกประมาณ 5 นิ้ว โดยให้เสียบที่ต้นกล้วยขนาดใหญ่ในกอประมาณ 2-3 ต้น ต้นกล้วยจะตายภายใน 20-30 วัน ขึ้นกับขนาดของต้นกล้วย และห้ามเคลื่อนย้ายต้นกล้วยที่เป็นโรคออกนอกบริเวณ

  4. โรยปูนขาวประมาณ 5 กิโลกรัมต่อกอ ตรงบริเวณโคน และรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค ทำให้บริเวณโดยรอบราก และโคนต้นกล้วยมีความเป็นด่างเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน

  5. ต้นกล้วยที่เป็นโรคหากมีปลี หรือเครือกล้วยให้ใช้ถุงพลาสติกคลุมเพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อ และยับยั้งการแพร่กระจายของโรคไปสู่ต้นอื่น

  6. ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม รองเท้า เป็นต้น โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตรผสมน้ำ 3 ลิตร หรือปูนคลอรีน 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ใส่ในขวดสเปรย์ (ขวดฟอกกี้) ฉีดล้างอุปกรณ์ทางการเกษตร

  7. ห้ามเดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากต้องเดินไปที่ต้นเป็นโรคควรเปลี่ยนรองเท้า เนื่องจากดินที่มีเชื้อแบคทีเรียอาจติดไปกับรองเท้าไปยังต้นที่ไม่เป็นโรคได้

ขอขอบคุณข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร, รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์

ขอขอบคุณรูปภาพ : ผศ.ดร.ปราโมทย์ สฤษดิ์นิรันดร์  ภาควิชาพืชสวน  คณะเกษตร กำแพงแสน

 


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw