หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นแมลงศัตรูรุกรานที่เข้ามาระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2561 และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แต่เนื่องจากหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมีพืชอาหารหลากหลายรวมมากกว่า 80 ชนิด ทั้งข้าวโพด ข้าวโพดหวาน ข้าว ข้าวฟ่าง อ้อย กล้วย มันฝรั่ง มะเขือเทศ มันเทศ ฝ้าย ยาสูบ ถั่วเหลือง พืชวงศ์ถั่ว ทานตะวัน ขิง พริก พืชวงศ์กะหล่ำ พืชวงศ์แตง และวัชพืชอื่นๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นโอกาสที่แมลงชนิดนี้จะสร้างความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นจึงมีค่อนข้างสูง ซึ่งขณะนี้ก็มีรายงานการเริ่มระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในข้าวที่ จ.เชียงราย และในอ้อยที่ จ.ชลบุรี

          หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ข้าวโพด  ซึ่งพบลงทำลายข้าวโพด ฝ้าย และข้าวฟ่างเป็นหลัก และสายพันธุ์ข้าว ซึ่งพบลงทำลายข้าว ข้าวฟ่างนก และพืชตระกูลหญ้าอื่นๆ เป็นหลัก ทั้งสองสายพันธุ์มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาเหมือนกันทุกประการ แต่แตกต่างกันที่องค์ประกอบของฟีโรโมน พฤติกรรมการผสมพันธุ์ และกลุ่มพืชอาหารที่ชอบเข้าทำลาย การเข้าทำลายพืชอาหารข้ามกลุ่มของแต่ละสายพันธุ์มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ความจำเพาะเจาะจงด้านพืชอาหารของแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน กล่าวคือจะมีโอกาสพบสายพันธุ์ข้าวโพดลงทำลายข้าวน้อยกว่าโอกาสที่จะพบสายพันธุ์ข้าวลงทำลายข้าวโพด แม้ว่าที่ผ่านมาแมลงศัตรูรุกรานชนิดนี้จะระบาดทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมาโดยตลอด แต่ข้อมูลต่างๆ บ่งชี้ว่าหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ข้าว

          ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะระบาดสร้างความเสียหายให้กับข้าวและอ้อยได้อย่างรุนแรง เนื่องจากมีการปลูกพืชทั้งสองชนิดทั่วไปทุกภาค และมักจะมีการปลูกติดต่อกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ทำให้แมลงมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะในข้าวฤดูปลูกที่จะมาถึงนี้ และในอ้อยต้นเล็ก

คำแนะนำในการปฏิบัติ

1. เกษตรกรควรหมั่นสำรวจนาข้าวและไร่อ้อยรวมทั้งพืชอาหารอื่นๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง กล้วย หญ้าเนเปียร์ ฯลฯ ในบริเวณใกล้เคียงเป็นประจำ โดยสังเกตกลุ่มไข่ หรือร่องรอยการทำลายของหนอน หากพบกลุ่มไข่ให้เก็บไปทำลายทันที ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำจัดหนอนที่จะออกมาภายหลังได้ 100-200 ตัว

2. หลังจากนั้นให้สำรวจให้ถี่ขึ้น หากพบหนอนขนาดเล็กให้พ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อบีที สายพันธุ์ไอซาไว (เซนทารี) หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน

3. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดแมลงโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูปลูก เพื่อเปิดโอกาสให้ศัตรูธรรมชาติชนิดต่างๆ เช่น แมงมุม แมลงหางหนีบ และมวนพิฆาต เป็นต้น สามารถเพิ่มปริมาณ และคอยควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ รวมทั้งอาจนำศัตรูธรรมชาติจากแหล่งอื่นมาปล่อยเพิ่มเติม

4. หากจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง สามารถใช้สารดังต่อไปนี้

      - สไปนีโทแรม 12% SC (เอ็กซอล) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 5)

      - สไปนีโทแรม 25% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 5)

      - อิมาเมกตินเบนโซเอท 1.92% EC  (โซเวล) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6)

      - อิมาเมกตินเบนโซเอท 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6)

      - คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13)

      - อินดอกซาคาร์บ 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22)

      - เมทอกซีฟีโนไซด์ + สารสไปนีโทแรม 30% + 6% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 18+5)

      - คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28)

      - ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28)


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw