หนึ่งในข้อสงสัยที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่คิดจะเริ่มปลูกกัญชง-กัญชาก็คือว่า เมื่อปลูกไปแล้วจะมีปัญหาศัตรูพืชมาทำลายบ้างมั้ย คำตอบก็คือแน่นอนครับ โดยธรรมชาติแล้วไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใดที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศ บทบาทสำคัญของมันก็คือเป็นผู้ผลิต เนื่องจากพืชสามารถสร้างอาหารด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง นำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมี ซึ่งกลายเป็นแหล่งอาหารหลักของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั่วโลก ปัญหาที่ทำให้สิ่งมีชีวิตที่กินพืชดังกล่าวเปลี่ยนสถานะกลายเป็นศัตรูพืชขึ้นมามักเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีความต้องการที่จะครอบครองหรือใช้ประโยชน์จากพืชนั้น ทำให้มนุษย์ต้องกีดกัน ป้องกัน และกำจัดสิ่งมีชีวิตที่เข้ามากินหรือใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์เริ่มทำการเกษตร มีการเพาะปลูกพืชที่ต้องการมากขึ้น ปัญหาศัตรูพืชก็จะรุนแรงมากขึ้นตามมา เช่นเดียวกันถ้าเริ่มมีการขยายการเพาะปลูกกัญชง-กัญชามากขึ้น ศัตรูพืชชนิดต่างๆ ก็จะเป็นปัญหามากขึ้นเป็นธรรมดา แม้ว่าในปัจจุบันการศึกษาวิจัยประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับกัญชง-กัญชาของไทยจะอยู่ในระยะเริ่มต้นก็ตาม แต่ข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูพืชที่ทำลายทั้งกัญชงและกัญชาจากต่างประเทศก็สามารถนำมาใช้อ้างอิงเพื่อการเตรียมการรับมือต่อไป ลองมาดูกันว่าสิ่งมีชีวิตที่อาจเป็นศัตรูสำคัญของกัญชง-กัญชามีกลุ่มใดได้บ้าง

           กลุ่มแมลงปากดูด ส่วนใหญ่ศัตรูกลุ่มนี้มักเป็นแมลงขนาดเล็ก ปากมีลักษณะเป็นเข็มสำหรับแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง พบได้ในพืชปลูกทั่วไปโดยอาจเป็นชนิดเดียวกันกับแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจที่สำคัญๆ หรืออาจเป็นคนละชนิดกันก็ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยโดยละเอียดต่อไป เช่น

               เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวอ่อนนิ่ม รูปร่างคล้ายหยดน้ำ มีทั้งรูปแบบที่มีปีกและไม่มีปีกเมื่อเป็นตัวเต็มวัย ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้รวดเร็วโดยไม่อาศัยเพศ โดยตัวเมียสามารถออกลูกเป็นตัวอ่อนเพศเมียได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ จะพบตัวผู้ได้เฉพาะในเขตที่มีอากาศหนาวจัดเท่านั้น ขับถ่ายของเสียเป็นมูลหวาน ทำให้มักพบคู่กับมดและราดำที่ใช้มูลหวานเป็นอาหารอีกทอดหนึ่ง

 

               เพลี้ยแป้ง ลำตัวอ่อนนิ่ม รูปร่างกลมรี มักมีไขสีขาวปกคลุม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพศเมียเกาะนิ่งอยู่กับที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช มีเฉพาะเพียงตัวอ่อนวัยแรกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ เท่านั้นที่เคลื่อนที่ได้คล่องแคล่ว ก่อนจะหาที่ที่เหมาะสมเพื่อเกาะนิ่งกับที่และกินอาหารต่อไป ตัวผู้มีปีกและมักมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ขับถ่ายของเสียเป็นมูลหวาน จึงมักพบคู่กับมดและราดำเช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อน

 

               เพลี้ยหอย มีหลากหลายชนิด โดยทั่วไปลำตัวมีลักษณะคล้ายเกล็ดไม่มีไขสีขาวปกคลุม ตัวอ่อนวัยแรกเคลื่อนที่ได้คล่องแคล่วก่อนจะเกาะนิ่งอยู่กับที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืชเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง  ตัวผู้มีปีกบอบบางบินได้ในระยะใกล้ๆ เท่านั้น

         

               แมลงหวี่ขาว ตัวเต็มวัยคล้ายผีเสื้อขนาดเล็ก มีปีก 2 คู่  ปีกบาง และมีไขสีขาวปกคลุม ตัวอ่อนวัยแรกสามารถเคลื่อนที่ได้คล่องแคล่ว ส่วนระยะอื่นจะเกาะนิ่งอยู่กับที่ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบพืช ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาจมีไขสีขาวปกคลุมลำตัว ดูดกินน้ำเลี้ยงจากด้านใต้ใบ ขับถ่ายเป็นมูลหวานเช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อนจึงมักพบราดำเกิดขึ้นบนใบที่อยู่ด้านล่าง

 

               เพลี้ยจักจั่น เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กตัวอ่อนไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ ขาคู่หลังมีหนามเรียงเป็นแถว ตัวอ่อนมักหลบซ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ด้านใต้ใบ ตัวเต็มวัยจะกระโดดและออกบินได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน แต่มักบินในระยะใกล้ๆ เท่านั้น มักทำให้ใบพืชเกิดอาการเป็นจุดไหม้สีน้ำตาลเนื่องจากปล่อยน้ำลายที่มีพิษต่อพืช (toxic saliva) ออกมาขณะดูดกินน้ำเลี้ยง

 

               เพลี้ยกระโดด ตัวเต็มวัยสามารถกระโดดและออกบินได้รวดเร็วเช่นเดียวกับเพลี้ยจักจั่น ขาคู่หลังไม่มีหนามเรียงเป็นแถวแต่หนามรวมเป็นกระจุกบริเวณข้อต่อระหว่างปล้องขาท้ายๆ มีทั้งชนิดที่ลำตัวขนาดค่อนข้างเล็ก (cixiid planthopper) และชนิดลำตัวแบนขนาดปานกลาง (flatid planthopper) สามารถปล่อยน้ำลายที่เป็นพิษทำให้พืชเกิดอาการใบไหม้ (hopperburn) ได้

 

               เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก มีลักษณะเฉพาะตัวคือลำตัวเรียวยาว ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ ลักษณะแคบยาว มีขนขึ้นเรียงเป็นแถวตามขอบปีก ปากของเพลี้ยไฟจะมีลักษณะพิเศษ โดยมีกรามข้างซ้ายเพียงข้างเดียวลักษณะเป็นเข็มสั้นๆ ใช้เขี่ยเนื่อเยื่อของพืชให้เซลล์แตกช้ำก่อนใช้ปากส่วนที่เหลือที่เป็นท่อสั้นดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช พืชจึงมักแสดงอาการใบเป็นขีดสีเงินในระยะแรก ก่อนจะกลายเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล หากสภาพอากาศแห้งแล้ง ใบอาจไหม้ ใบร่วงได้

 

          กลุ่มแมลงปากกัด มักมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มแรก โดยอาจกัดกินเนื้อเยื่อใบ ยอด หรือรากพืชให้เสียหายได้ เช่น

               หนอนผีเสื้อชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นหนอนบุ้งมีขนยาวชัดเจน และหนอนที่มีผิวเรียบหรือมีขนสั้นๆ เพียงเล็กน้อย แมลงพวกนี้เกิดจากตัวเมียซึ่งเป็นผีเสื้อบินเข้ามาวางไข่บนใบ หรือยอดอ่อนของพืช เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินเนื้อใบให้เว้าแหว่งหรือเป็นรูพรุน ก่อนจะเข้าดักแด้บนต้นพืชหรือทิ้งตัวลงเข้าดักแด้ใต้เศษซากพืชหรือใต้ผิวดินแล้วแต่ชนิด และออกมาเป็นผีเสื้อต่อไป

 

               หนอนชอนใบ อาจเป็นหนอนแมลงวันหรือหนอนผีเสื้อขนาดเล็ก โดยตัวเต็มวัยจะบินเข้ามาวางไข่ที่ใบหรือยอดอ่อนของพืช เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะเจาะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อระหว่างผิวใบด้านบนและด้านล่าง ชอนไชกัดกินเนื้อเยื่อสีเขียวของใบเป็นอุโมงค์ ทำให้เห็นเป็นรอยทางคดเคี้ยวไปตามเส้นทางการเคลื่อนที่ของหนอน ใบที่ถูกทำลายรุนแรงมักหลุดร่วง หนอนมักเข้าดักแด้ภายในอุโมงค์ และออกมาเป็นตัวเต็มวัยเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป

 

          บั่วรา ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายยุงขนาดเล็ก มีปีก 1 คู่ ตัวหนอนอยู่ที่ผิวดินที่ชื้นแฉะจากการรดน้ำบ่อยและมากเกินไป หนอนกัดกินรากโดยเฉพาะต้นกล้าทำให้พืชแคระแกร็น ใบเหลือง หรือแสดงอาการผิดปกติได้หลายรูปแบบ

 

               ตั๊กแตน กัดกินใบและยอดอ่อน ทำให้ใบแหว่งและยอดขาดเสียหาย เนื่องจากตั๊กแตนมักมีขนาดใหญ่และกินจุ สร้างความเสียหายได้มากจึงจำเป็นต้องรีบกำจัดก่อนที่จะเกิดการระบาดรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงอากาศแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงมักระบาดทำความเสียหายได้มาก

 

               จิ้งหรีดและแมลงกระชอน เป็นแมลงที่ขุดรูอาศัยอยู่ในโพรงดิน หรือซ่อนตัวตามซอกดิน หิน เศษซากพืช จึงมักสร้างความเสียหายโดยการกัดกินรากพืช หรือกัดโคนต้นกล้าให้หักล้มเสียหายได้ นอกจากนั้นยังอาจกัดกินใบพืชได้อีกด้วย หากพบตัวแมลงหรือความเสียหายที่เกิดจากจิ้งหรีดและแมลงกระชอนจำเป็นต้องรีบกำจัดเช่นเดียวกับตั๊กแตนก่อนที่จะเกิดการระบาดรุนแรง

 

          กลุ่มไร เป็นสัตว์ศัตรูพืชที่มีความใกล้เคียงกับแมลง เช่น

               ไรแมงมุมหรือไรแดง มีขนาดเล็ก ลำตัวกลมรี มีขา 4 คู่ ปากแบบเจาะดูดซึ่งสามารถเจาะเข้าไปในแต่ละเซลล์ของใบพืช พืชที่ถูกไรแมงมุมเข้าทำลายจึงมักแสดงอาการใบเป็นจุดขนาดเล็กกระจายทั่วไป จุดอาจเป็นสีขาว เหลือง หรือส้ม สามารถสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุมปกคลุมบริเวณที่ลงทำลาย เนื่องจากมีขนาดเล็กหากไม่หมั่นสำรวจอาจเกิดการระบาดทำความเสียหายแก่พืชแล้วจึงสังเกตเห็นได้

               ไรสี่ขา มีขนาดเล็กมาก ลำตัวเรียวยาวคล้ายตัวหนอนขนาดเล็ก มีขาทางด้านหน้าเพียง 2 คู่ ไรสี่ขา มักอาศัยตามซอกใบ ตา ยอดอ่อน ช่อดอก และรอยแตกต่างๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ขอบใบหงิกงุ้มเข้า ใบไม่กางออก รวมทั้งตาและช่อดอกแคระแกร็นและเหี่ยวแห้งได้

 

               ไรขาว มีขนาดเล็กมาก ลำตัวกลมรี ตัวอ่อนมีขา 3 คู่ ตัวเต็มวัยมีขา 4 คู่ มักดูดกินน้ำเลี้ยงจากด้านใต้ใบพืช และยอดอ่อน ทำให้พืชมีอาการใบหงิกม้วน ใบเป็นมันเงาคล้ายเปียกน้ำ ยอดอ่อนเหี่ยวลู่ตกลง ตาและช่อดอกแห้งและหลุดร่วงได้

 

          กลุ่มสัตว์ศัตรูพืช ได้แก่ หอยและทาก ซึ่งสามารถทำความเสียต่อพืชได้เช่นกันด้วยการกัดกินเนื้อเยื่ออ่อนของพืชเช่น ใบ ยอดอ่อน และตาดอก หากระบาดรุนแรงความเสียหายต่อพืชมีมากอาจทำให้พืชตายได้

            กลุ่มโรคพืช เช่น โรคใบด่าง โรคราแป้ง โรคใบจุดเหลือง โรคตาเน่า และโรครากเน่า เป็นต้น

          เนื่องจากการปลูกกัญชง-กัญชาในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ การดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาศัตรูพืชจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อมิให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างบนผลผลิต ดังนั้นจึงควรเน้นไปที่การบำรุงรักษาพืชให้แข็งแรงด้วยการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย แสง และอากาศ เช่น การให้น้ำที่พอดีกับความต้องการของพืช หากปล่อยให้พืชหรือสภาพแวดล้อมอยู่ในสภาพขาดน้ำก็มักเกิดการระบาดของเพลี้ยไฟ และไรแมงมุม แต่หากให้น้ำมากเกินไป และการระบายน้ำของดินไม่ดีก็มักเกิดปัญหาบั่วรา หรือโรครากเน่าตามมาได้

          การหมั่นสำรวจพืชอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถพบปัญหาได้เร็ว และแก้ไขได้ทันการณ์ก่อนที่จะเกิดความเสียหายรุนแรง โดยควรพิจารณาเลือกใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชแบบไม่ใช้สารเคมี เช่น การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง ก็สามารถนำมาใช้ดักจับแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น บั่วรา และแมลงบินบางชนิด การใช้มือหรืออุปกรณ์ในการเก็บจับแมลงไปทำลายก็สามารถทำได้ในระยะที่แมลงมีการระบาดยังไม่มากนัก เช่น การเก็บหนอน การใช้สวิงจับตั๊กแตน การเด็ดใบ/ยอด/ช่อดอก ที่มีเพลี้ยแป้ง/เพลี้ยหอยไปทำลาย หากเกิดการระบาดมากในบางครั้งอาจจำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้สารหรือชีวภัณฑ์ที่ปลอดภัย เช่น การใช้น้ำยาล้างจาน หรือปิโตรเลียมออยล์ในการฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงปากดูดขนาดเล็กหลายชนิด แต่ทั้งนี้ต้องมีการทดสอบความเป็นพิษต่อพืชก่อนด้วย เนื่องจากพืชแต่ละชนิดอาจมีความไวต่อสารในกลุ่มนี้แตกต่างกัน หรือใช้ชีวภัณฑ์บีทีในการกำจัดหนอนผีเสื้อชนิดต่างได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้พ่น ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.growweedeasy.com/bugs-pests-symptoms-marijuana-grow
https://science.royalsociety.go.th/กัญชง-กัญชา/

สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw