โดยปกติทุเรียนพันธุ์ทั่วไป เช่น ก้านยาว กระดุม ชะนี พวงมณี ฯลฯ เมื่อแก่แล้วจะใช้เวลาบ่มสุกประมาณ 3-7 วัน ไม่เกิน 10 วัน ในขณะที่ทุเรียนพันธุ์ "หมอนทอง" จะใช้เวลาสุกนานกว่าพันธุ์อื่นๆ คือ 9-13 วัน และเวลาสุกจะสุกไม่พร้อมกันทุกพู เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ผลิตเอทีลีนได้น้อย จึงใช้เวลาในการสุกนาน ชาวสวนหรือล้งจึงมักใช้สารในกลุ่มฮอร์โมนพืชป้ายขั้ว เพื่อเร่งการสุกและทำให้ทุเรียนสุกพร้อมกันทุกพู ซึ่งสารที่ใช้ป้ายขั้วกันทั่วไปก็คือ เอทีฟอน (ethephon) เมื่อนำเอทีฟอนมาทาที่ขั้วทุเรียนจะเกิดการแตกตัวและปล่อยก๊าซเอทิลีน ซึ่งหน้าที่ของเอทิลีนคือส่งเสริมการสุกแก่ของพืช ทำให้ทุเรียนสุกเร็วขึ้น  การผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออก มักจะมีการใช้สารเอทีฟอน (ethephon) ป้ายที่ขั้วก่อนทำการขนส่ง เมื่อเปิดตู้ที่ประเทศปลายทางผลทุเรียนจะสุกพอดีและสุกสม่ำเสมอกันทุกพู โดยที่ปริมาณสารเอทีฟอนจากการตรวจสอบในเนื้อทุเรียนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค  โดยมาตรฐานระหว่างประเทศ (CODEX) และมาตรฐาน มกษ. 9002-2556 ได้กำหนดให้ปริมาณสารเอทีฟอนตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit ; MRL) ในผลทุเรียนไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากงานวิจัยของ ดร.พีรพงษ์  แสงวนางค์กูล และคณะ จากศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  พบว่าในผลทุเรียนอายุ 110 วัน และ 120 วันหลังดอกบาน การบ่มโดยการป้ายขั้วด้วย สารเอทีฟอน เข้มข้น 26% จำนวน 2 ครั้ง ไม่พบสารตกค้างในส่วนของเนื้อผลเกินกว่าค่ามาตรฐานไทยและสากล

          นอกจากนี้ในทางการเกษตรสารเอทีฟอน (ethephon) ยังเป็นประโยชน์กับการผลิตพืชผลอีกมาก เช่น ใช้สำหรับเร่งการออกดอกสับปะรด  เร่งสีในการแก่ของผลไม้ อีกทั้งยังใช้บ่มผลไม้ให้สุกเร็วขึ้น และสุกพร้อมกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น กล้วย และละมุด เป็นต้น

 

 


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw