ประเทศไทยมีชื่อเสียงในเรื่องของการผลิตผลไม้เมืองร้อนหลายชนิด ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเนื่องจากมีคุณภาพ และรสชาติเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ทุเรียนก็เป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกค่อนข้างสูง โดยในปี 2563 ปริมาณการส่งออกทุเรียนไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีโดยมีสถิติการส่งออก 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ในหมวดทุเรียนสด มากกว่า 615,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 65,000 ล้านบาท ประมาณ 80% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดมีเป้าหมายหลักคือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ในการค้าขายสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกนอกจากจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพของผลผลิตแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับปริมาณสารพิษตกค้าง และปัญหาการปนเปื้อนของโรคและแมลงที่อาจติดไปกับสินค้าด้วย โดยทั้ง เกษตรกรและผู้ส่งออกจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์การระงับการนำเข้าที่อาจเกิดขึ้นได้หากประเทศคู่ค้ายังตรวจพบปัญหาเดิมซ้ำๆ อีก สำหรับแมลงศัตรูทุเรียนที่มีความเสี่ยงสูงในการสร้างปัญหาให้กับการส่งออกทุเรียนของไทยและได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศจีนบ่อยครั้งได้แก่  หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย โดยหนอนเจาะเมล็ดจะอยู่ภายในผลทุเรียนทำให้สังเกตเห็นได้ยาก ส่วนเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยโดยเฉพาะวัยแรกๆ จะสามารถหลบซ่อนได้ดีตามขั้วผล และซอกหนามทุเรียน

     หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มีชื่อเรียกอื่นคือ หนอนใต้ หนอนมาเลย์ หรือหนอนรู โดยสันนิษฐานว่าแมลงชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และระบาดมายังภาคใต้ของประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดยะลา ต่อมาเมื่อมีความนิยมในการนำเมล็ดทุเรียนป่า ทุเรียนนกจากภาคใต้มาเพาะเพื่อใช้เป็นต้นตอของทุเรียนพันธุ์ดี หนอนชนิดนี้จึงติดไปด้วยและแพร่ระบาดไปตามแหล่งปลูกทุเรียนทั่วประเทศ

     หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมีตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลปนเทา มีแต้มวงกลมสีขาว ขนาดใหญ่ชัดเจนกระจายบนปีก ปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลปนเทา แต่สีอ่อนกว่าและไม่มีลายสีขาวแบบปีกคู่หน้า ตัวเมียวางไข่ตอนกลางคืนเป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณใกล้ขั้วผล ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 100-200 ฟอง โดยจะวางไข่บนผลที่มีอายุประมาณ 2 เดือน เมื่อเมล็ดเริ่มเจริญดี ไข่ใช้เวลาประมาณ 10 วันจึงฟักเป็นตัวหนอน ซึ่งจะเจาะเปลือกทุเรียนเป็นรูขนาดเล็กเข้าไปอาศัยอยู่ภายในผล เนื่องจากผลทุเรียนกำลังอยู่ในระยะขยายตัว จึงทำให้สังเกตเห็นรูได้ยาก หนอนจะเจาะผ่านเนื้อเข้าไปยังเมล็ดทุเรียนซึ่งเริ่มแข็งตัว กัดกินเนื้อเมล็ดและถ่ายมูลทำให้เนื้อทุเรียนสกปรกเสียหาย

     ตัวหนอนมีสีชมพูอ่อนและเข้มขึ้นเป็นสีแดงเมื่อโตขึ้น ระยะหนอนประมาณ 38 วัน หนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจึงเจาะเปลือกผลเป็นรูขนาด 5-8 มิลลิเมตร ทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ใต้เศษพืชและผิวดิน ระยะก่อนเข้าดักแด้ประมาณ 8-10 วันและระยะดักแด้ 1-9 เดือน ขึ้นกับสภาพแวดล้อม โดยฝนในช่วงต้นปีจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผีเสื้อออกจากดักแด้ ผีเสื้อที่ออกจากดักแด้ภายใน 1 เดือน อาจเข้าวางไข่และทำลายทุเรียนรุ่นหลังในปีเดียวกันได้

การจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

  1. หลีกเลี่ยงการขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากแหล่งอื่นมายังสวน แต่หากจำเป็น จะต้องคัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ปราศจากหนอนเจาะเมล็ดหรือศัตรูพืชอื่น หรือแช่เมล็ดด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี (กลุ่ม 1) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี (เซฟวิน 85) (กลุ่ม 1) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนการขนย้าย เพื่อกำจัดหนอนที่อาจติดอยู่ภายในเมล็ด

  2. ดูแลรักษาความสะอาดแปลง โดยนำเศษซากผลทุเรียนที่ร่วงหล่นบริเวณใต้ต้นไปฝังดินพร้อมอัดหน้าดินให้แน่น หรือเผาทำลาย เพื่อลดแหล่งสะสมของหนอนและดักแด้

  3. ห่อผลด้วยถุงพลาสติกเจาะรูด้านล่างเพื่อระบายน้ำ หรือห่อด้วยถุงตาข่ายไนล่อนคลุมทั้งผลจะสามารถป้องกันการวางไข่ของผีเสื้อบริเวณขั้วผลได้ ทั้งนี้หากใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นหรือสีทึบอาจมีผลกระทบต่อสีของเปลือกผลทุเรียนได้บ้าง เริ่มห่อผลเมื่อผลมีอายุไม่เกิน 6 สัปดาห์หลังติดผล ก่อนห่อจะต้องตรวจสอบและกำจัดเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยออกจากผลทุเรียนให้หมดสิ้นก่อน

  4. ติดตั้งกับดักแสงไฟหลอดแบล็คไลท์เพื่อจับผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนซึ่งจะช่วยลดการวางไข่ที่จะกลายเป็นหนอนและสร้างความเสียหายต่อไป แต่หากมีจำนวนกับดักมากเกินไป กับดักแสงไฟแบล็คไลท์อาจดึงดูดแมลงหลายชนิด รวมทั้งแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นมาสร้างปัญหาภายในสวนทุเรียนให้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

  5. ใช้สารไล่แมลง เช่น สารสกัดจากสะเดา หรือน้ำส้มควันไม้ ซึ่งมีกลิ่นในการไล่หรือรบกวนการวางไข่ของผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ด

  6. ใช้สารเคมีเป็นทางเลือกสุดท้ายหากวิธีการอื่นไม่ได้ผล โดยในสวนที่ไม่มีการห่อผล ให้พ่นสารเคมีทันทีที่ตรวจพบผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนตัวแรกในกับดักแสงไฟ หรือในแหล่งที่มีการระบาดเป็นประจำให้พ่นสารเคมีเมื่อติดผลได้ 6 สัปดาห์ โดยใช้คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี (กลุ่ม 1) (เซฟวิน 85) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดอะซินอน 60% อีซี (กลุ่ม 1) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เดลทาเมทริน 3% อีซี (กลุ่ม 3) อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส (กลุ่ม 3) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วห่างกันครั้งละ 7 วัน และเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยวหลังจากพ่นสารครั้งสุดท้ายตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสารตกค้างบนผลทุเรียน

     เพลี้ยแป้งจัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของทุเรียน เป็นแมลงที่มีพืชอาศัยหลากหลายเช่น ทุเรียน มะม่วง เงาะ สับปะรด ฯลฯ เพลี้ยแป้งสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงได้จากทั้งยอดอ่อน กิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน และผลแก่ หากลงทำลายตั้งแต่ระยะผลอ่อนจะทำให้ผลแคระแกร็น หรือหลุดร่วงได้ เพลี้ยแป้งเป็นแมลงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ตัวเมียไม่มีปีก ลำตัวอ่อนนุ่มปกคลุมด้วยไขสีขาวคล้ายแป้ง มักเกาะนิ่ง ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่กับที่ไม่ค่อยเคลื่อนย้าย ตัวผู้ขนาดเล็กกว่าตัวเมีย มีปีก บินได้แค่ระยะใกล้ๆ ตัวเมียวางไข่กลุ่มละ 100-200 ฟอง อยู่ภายในถุงใต้ท้องตัวเมีย ไข่ฟักภายในถุง ตลอดวงจรชีวิตสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ สามารถเคลื่อนที่ได้คล่องแคล่ว โดยจะหาซอกหรือพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเกาะนิ่งและดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชต่อไป เนื่องจากเป็นแมลงขนาดเล็กและเคลื่อนที่ค่อนข้างน้อย มดจึงเป็นตัวการหลักในการคาบพาเพลี้ยแป้งแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของพืช และคอยป้องกันเพลี้ยแป้งจากศัตรูอีกด้วย ทั้งนี้มดจะได้ประโยชน์จากของเหลวพวกน้ำตาลที่เพลี้ยแป้งขับถ่ายออกมา ของเหลวดังกล่าวยังเป็นแหล่งอาหารของราดำจึงมักทำให้ผลทุเรียนที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลายมีสีดำ สกปรก ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ เพลี้ยแป้งสามารถเข้าทำลายผลทุเรียนตั้งแต่ระยะเริ่มติดผลจนกระทั่งระยะเก็บเกี่ยว และสามารถติดไปกับผลทุเรียนส่งออกได้ง่ายโดยการหลบซ่อนตามซอกหนามและขั้วผล

การจัดการเพลี้ยแป้งในทุเรียน

  1. หมั่นสำรวจต้นทุเรียนเป็นประจำ และตัดแต่งกิ่ง ใบ หรือส่วนของทุเรียนที่เริ่มพบเพลี้ยแป้งไปเผาทำลาย

  2. กำจัดวัชพืชในสวนทุเรียนที่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยแป้ง เช่น แห้วหมู

  3. เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่น ด้วงเต่าลาย และแมลงปีกใส

  4. หากพบเพลี้ยแป้งไม่มากนักบนผลให้ใช้แปรงปัดและกำจัดเพลี้ยแป้งที่ร่วงหลุดออกมาให้หมด หรือใช้ปิโตรเลียมออยล์ (เอสเค เอ็นสเปรย์ 99) อัตรา 50-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นโดยรอบผลที่พบเพลี้ยแป้ง

  5. ใช้สารฆ่าแมลงพ่นกำจัดมดบริเวณโคนต้นและรังมด และใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี (กลุ่ม 1) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี (กลุ่ม 1) (เซฟวิน 85) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรพันไว้ตามกิ่งเพื่อป้องกันมดไม่ให้คาบพาเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่างๆ ของพืช โดยต้องชุบผ้าซ้ำทุก 10 วัน

  6. หากมีการระบาดรุนแรงและจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง ให้พ่นเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งให้ทั่วด้วยสารฆ่าแมลง เช่น ไดโนทีฟูแรน 10% ดับลิวพี (กลุ่ม 4) (สตาร์เกิล) อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 20% ดับลิวจี (กลุ่ม 4) (เท็นจู) อัตรา 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน 45% เอสซี (กลุ่ม 16) (นาปาม เอสซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วันติดต่อกัน 2 ครั้ง และเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยวหลังจากพ่นสารครั้งสุดท้ายตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสารตกค้างบนผลทุเรียน

     เพลี้ยหอยเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก 1-2 มิลลิเมตร ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้น กิ่ง ใบ ตา และขั้วผล ทำให้ส่วนที่ถูกทำลายเหลืองหรือแห้งตายได้ ตัวเต็มวัยเพศเมียลำตัวสีแดงปนส้ม ไม่มีปีก เกาะนิ่งอยู่กับที่ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช และมีเกราะ (คล้ายฝาครอบ) ลักษณะกลมรีซึ่งสร้างจากไขและคราบเก่าของเพลี้ยปกคลุมลำตัวอยู่ภายใน หากระบาดรุนแรงจะปกคลุมพื้นผิวพืชทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ตัวเมียวางไข่และไข่ฟักเป็นตัวภายใต้เกราะ ตัวอ่อนวัยแรกสามารถเคลื่อนที่ได้คล่องแคล่วทำให้แพร่กระจายไปได้ โดยจะออกจากเกราะของตัวแม่และเดินหาส่วนอ่อนๆ ของพืชที่เหมาะสม เพื่อเกาะนิ่งและเริ่มดูดกินอาหาร หรืออาจปลิวไปกับลม หรือติดไปกับคนและสัตว์อื่น  ตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีกบอบบาง สามารถบินได้ในระยะใกล้ๆ เท่านั้น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่เกาะนิ่งแล้วสามารถแพร่ระบาดได้โดยการติดไปกับกิ่งพันธุ์ ใบและผลทุเรียน ตลอดวงจรชีวิตใช้เวลาประมาณ 35-40 วัน

การจัดการเพลี้ยหอยในทุเรียน

  1. หมั่นสำรวจสวนและตัดแต่งกิ่ง ใบ หรือส่วนของทุเรียนที่เริ่มพบเพลี้ยหอยไปเผาทำลาย

  2. ตรวจสอบกิ่งพันธุ์ทุเรียนที่จะนำเข้ามายังสวนให้ปลอดจากโรคและแมลง

  3. ถ้าเริ่มพบเพลี้ยหอยและมีปริมาณไม่มากนัก สามารถใช้ปิโตรเลียมออยล์ (เอสเค เอ็นสเปรย์) อัตรา 50-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นให้ทั่วบริเวณจะช่วยกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ดได้

  4. หากมีการระบาดอาจจำเป็นต้องพ่นสารฆ่าแมลงบริเวณโดยรอบต้นหรือจุดที่สำรวจพบ สารฆ่าแมลงที่สามารถใช้ควบคุมเพลี้ยหอยได้ เช่น ไดโนทีฟูแรน 10% ดับลิวพี (กลุ่ม 4) (สตาร์เกิล) อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 20% ดับลิวจี (กลุ่ม 4) (เท็นจู) อัตรา 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน 45% เอสซี (กลุ่ม 16) (นาปาม เอสซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วันติดต่อกัน 2 ครั้ง และเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยวหลังจากพ่นสารครั้งสุดท้ายตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสารตกค้างบนผลทุเรียน

เอกสารประกอบการเรียบเรียง
Beardsley, J. W. Jr. and R. H. Gonzalez. 1975. The biology and ecology of armored scales. Annu. Rev. Entomol. 20:47-73.
http://impexp.oae.go.th/service/ ตรวจสอบเมื่อ 25 มกราคม 2564.
http://scalenet.info/catalogue/ ตรวจสอบเมื่อ 25 มกราคม 2564.
ศรุต สุทธิอารมณ์. 2559. รายงานโครงการวิจัย การศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ศรุต สุทธิอารมณ์. 2557. แมลงศัตรูทุเรียน. หน้า 4-23. ใน แมลงศัตรูไม้ผล เอกสารวิชาการ กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.
สาทร สิริสิงห์ มานิตา คงชื่นสิน และ วัฒนา จารณศรี. 2535. แมลงศัตรูทุเรียนและการป้องกันกำจัด. หน้า 226-238. ใน แมลงและสัตว์ศัตรูที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจและการบริหาร. กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร.
สุเทพ สหายา. 2560. รู้เข้าใจการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช: หนอนเจาะเมล็ด ภัยร้ายของชาวสวนทุเรียน. เคหการเกษตร. หน้า 171-174.
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์ ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา และพฤทธิชาติ ปุญวัฒโท. 2563.เอกสารวิชาการ คำแนะนำการป้องกันแมลง-สัตว์ศัตรูพืช อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากงานวิจัย.กลุ่มบริหารศัตรูพืช/กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 230 หน้า.
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช. 2562. เอกสารวิชาการ แมลง-ไร ศัตรูทุเรียน. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 88 หน้า.