ในการปลูกทุเรียนนั้นจำเป็นต้องมีการดูแลรักษา มีความละเอียดช่างสังเกตเมื่อเดินสำรวจในแปลง  ทั้งนี้เนื่องจากว่าจุลินทรีย์สาเหตุโรคที่เข้าทำลายทุเรียนนั้น พบได้ในเกือบทุกระยะ ตั้งแต่ระยะต้นกล้า ติดดอก ให้ผลผลิต ในระยะต้นกล้าเกิดโรคกิ่งแห้ง เมื่อติดดอกอาจพบเส้นใยเจริญฟูหรือเป็นแผลสีน้ำตาล ส่วนระยะที่ให้ผล มักพบโรคผลเน่าทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งมีเชื้อสาเหตุเข้าทำลายได้ 3-4 ชนิด หลังตัดผลออกไปจำหน่ายแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมีการบำรุงต้นทุเรียนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด หากไม่มีการดูแลที่ดีพอ ต้นจะเสื่อมโทรมและเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุโรคพร้อมที่จะเข้าทำลายได้ตลอดเวลา หรือเข้าทำลายแล้ว แต่อาการจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อต้นทุเรียนเสื่อมโทรม  สวนทุเรียนจะอยู่ในสภาพสะอาดโล่งเตียน หรือจะเป็นที่สะสมของจุลินทรีย์เชื้อสาเหตุโรคนั้น ขึ้นอยู่กับเกษตรกรเจ้าของสวนทั้งสิ้น

          ปัจจุบันนี้ของอาการโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนนั้นไม่ได้มีเพียงเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora) เพียงอย่างเดียว แต่ตรวจพบเชื้อราไฟโทพิเธียม (Phytopythium) และพิเธียม (Pythium) อีกด้วย หากเข้าทำลายบริเวณราก พบแผลสีน้ำตาลเข้มถึงดำ พบการแตกรากฝอยมากผิดปกติบริเวณรากฝอยมีอาการรากแผล รากถอดปลอก แผลบริเวณโคนต้นเหนือดินเป็นแผลสีน้ำตาลไปจนถึงสีน้ำตาลปนม่วงมีลักษณะฉ่ำน้ำ บางครั้งพบเส้นใยสีขาวฟูเจริญบริเวณเนื้อไม้บริเวณโคนต้น สำหรับเชื้อราไฟทอปธอร่าสามารถเข้าทำลายบริเวณใบได้ด้วย โดยทำให้เกิดแผลไหม้สีน้ำตาลถึงสีดำน้ำตาลปนม่วง มีลักษณะฉ่ำน้ำ หากเป็นที่ใบอ่อนมักจะลามเข้าเส้นกลางใบ ส่วนใบแก่พบได้ทุกส่วนของใบ

การควบคุมโรค

          ควรมีการจัดการแปลงให้มีการระบายน้ำที่ดี ไม่ท่วมขัง จากนั้นปรับค่าพีเอชของดินโดยการใส่ปูนขาวหรืออาจใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์โดยใส่ลงดิน หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา แนะนำสารเคมีที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรากลุ่มนี้ได้ เช่น คาร์บ๊อกซิล  คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์  คลอโรทาโรนิลผสมอะซอกซีสโตรบิน  ควินโตซีน  ไซโปรโคนาโซล  ไดฟีโนโคนาโซล  ไตรโฟรีน  โพรไซมิโดน  โพรพิเนบ  ไพราโคลสโตรบิน  โพรพิโคนาโซล  แมนโคเซบผสมวาลิฟีนาเลท  เมทาแลกซิล  วาลิดามัยซิน  ไอโพรวาลิคาร์บผสมโพรพิเนบ  อะซอกซีสโตรบินผสมไดฟีโนโคนาโซล  อีทริไดอะโซล  เฮกซาโคนาโซล  และ ไฮเมซาโซล

          เชื้อสาเหตุของโรคมี 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน (Fusarium solani) และ เชื้อราฟิวซาเรียม อินคาร์นาตัม (Fusarium incarnatum)   พบใบบริเวณปลายยอดมีลักษณะเหลืองทั้งใบ ต่อมาปลายยอดสลัดใบทิ้ง ทำให้เป็นจุดเด่นในการสังเกต พบแผลสีน้ำตาลบริเวณปลายยอด แผลแห้ง เนื้อไม้มีลักษณะย่นเล็กน้อย อาจพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวหรือชมพูอมส้มเจริญปกคลุมที่แผล ลักษณะบางบางหรือเจริญเป็นปื้น หรืออาจไม่พบกลุ่มของเส้นใยเหล่านี้เลยก็เป็นได้ เมื่อผ่าดูบริเวณเนื้อไม้ส่วนของยอดที่เป็นโรค พบแผลสีน้ำตาลมีลักษณะแห้ง ไม่พบรอยแมลงเจาะแต่ประการใด นอกเหนือจากนั้นกิ่งใหญ่บริเวณกลางกิ่งอาจพบแผลสีน้ำตาลแห้งขอบแผลเป็นสีน้ำตาลปนแดง นอกจากนี้เชื้อราฟิวซาเรียมยังสามารถเข้าทำลายลำต้นของทุเรียนและกิ่งใหญ่ที่ติดผลมาหลายรอบได้เช่นกัน ทั้งนี้อาจเกิดเพราะความอ่อนแอของต้นทุเรียนนั่นเอง กรณีของกิ่งใหญ่บางครั้งอาจพบมอดด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการศึกษาวิจัยส่วนนี้ต่อไป พบอาการโรคกิ่งแห้งได้ทุกฤดูกาลของประเทศไทย

การควบคุมโรค

          ควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคเพื่อที่จะลดปริมาณของเชื้อไม่ให้สะสมในแปลงมากนัก และควรที่จะเผาทิ้งเนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยเหมาะสมกับเชื้อราชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง หลังการตัดผลทุเรียนออกจำหน่ายแล้วควรที่จะเพิ่มเติมอาหารให้กับต้นทุเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือต้นทรุดโทรมมากเกินไป หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราแนะนำสารเคมีดังต่อไปนี้

          จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ สารเคมีที่ควบคุมการเจริญของเชื้อราทั้งสองชนิด ได้แก่  คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์  ไดฟีโนโคนาโซล  ไพราโคลสโตรบิน  ฟอสฟอนิคแอซิด  อะซอกซีสโตรบินผสมไดฟีโนโคนาโซล  อีทริไดอะโซล  เฮกซาโคนาโซล  และ ไฮเมซาโซล

          ส่วนสารเคมีที่ควบคุมเชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน เพียงชนิดเดียว ได้แก่ คาร์เบนดาซิม และ ไทโอฟาเนต เมทิล และสารเคมีที่ควบคุมเชื้อราฟิวซาเรียม อินคาร์นาตัม เพียงชนิดเดียว ได้แก่ คลอโรทาโรนิลผสมอะซอกซีสโตรบิน  ไซโปรโคนาโซล  และ ไตรโฟรีน

          เชื้อสาเหตุ คือ เชื้อราโฟมอพซิส (Phomopsis) นอกจากเข้าทำลายใบได้แล้ว ยังสามารถเข้าทำลายผล ทำให้เกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้เช่นกัน

          ลักษณะอาการแผลเริ่มต้นมีจุดสีเหลืองแถวกระจายทั่วใบ ต่อมารวมกันเป็นแผลใหม้สีเทาจากบริเวณปลายใบ แผลจะเปลี่ยนเป็นสีเข้ม พบส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราที่ เรียกว่า พิคนิเดียม (pycnidium) สีดำ กระจายห่างๆ ทั่วบริเวณเนื้อเยื่อใบที่ตายแล้ว หากอาการรุนแรงจะพบใบหลุดร่วง

การควบคุมโรค

          ควรตัดแต่งใบที่เป็นโรคออกทิ้งหรือเผา หากยังทิ้งไว้คาต้น ส่วนขยายพันธุ์สามารถปล่อยสปอร์ของเชื้อราออกมาภายนอกซึ่งอาจทำให้สปอร์เหล่านี้ติดไปกับแมลงที่บินอยู่ในแปลงทุเรียนได้ สำหรับสารเคมีหากจำเป็นต้องใช้ เช่น  คาร์เบนดาซิม  ไดฟีโนโคนาโซล  โพรพิเนบ  โปรคลอราช  และอะซ็อกซีสโตรบินผสมไดฟีโนโคนาโซล

          เชื้อสาเหตุ คือ เชื้อราคอลเลทโตทริคัม (Colletotrichum)   ลักษณะอาการแผลมีสีน้ำตาล พบจุดดำเล็กๆ กระจายทั่วบนแผลค่อนข้างแน่น ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เรียกว่าอะเซอร์วูลัส (acervulus) ของเชื้อราที่สร้างสปอร์ด้านบน แตกต่างกับการกระจายตัวของจุดดำที่พบบนใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อราโฟมอพซิส

การควบคุมโรค

          ตัดแต่งกิ่งและนำไปเผาทิ้ง และใช้สารเคมีกลุ่มเดียวกับที่ควบคุมเชื้อราโฟมอพซิส


สนใจข้อมูล/ความรู้ ด้านการเกษตรสามารถเข้าไปดูได้ที่

 goo.gl/oezFiy หรือ พิมพ์ @sotus

 www.facebook.com/sotus.int/

 https://www.youtube.com/channel/UCr0T_masJxA8_h5Y9xM5vdw